ASEAN Roundup ประจำวันที่ 21-28 มกราคม 2566
ลาววาง 8 เป้าหมายเน้นดันเศรษฐกิจปี’66 โต 4.5%
ดร.สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป.ลาว ได้กล่าวถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2566 ในงานมอบรางวัล สุดยอดนักธุรกิจดีเด่นประจำปี 2565 ที่จัดขึ้นวันที่ 23 มกราคมว่า รัฐบาลจะมุ่งเน้นการดำเนินการเพื่อให้ GDP ขยายตัวตามเป้าหมาย 4.5% ขึ้นไปนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในปี 2566 สภาพแวดล้อมระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนและคาดเดาไม่ได้ โดยเฉพาะการระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาราคาสินค้าและน้ำมัน ความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจมหภาค ปัญหาการเงิน การแก้ปัญหายาเสพติด เป็นต้น
ในการตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าว รัฐบาลได้พยายามหาทางแก้ไขทุกวิถีทาง โดยเฉพาะการพยายามสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับธุรกิจ การค้า การลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งพยายามดึงการสนับสนุนจากมิตรประเทศ องค์การระหว่างประเทศ นักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาช่วยเหลือและลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้นตามศักยภาพที่ สปป.ลาว มี
ดร.สอนไซกล่าวว่าในปี 2566 รัฐบาลจะมุ่งเน้นการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและมุ่งเน้นไปที่ เป้าหมายสำคัญต่างๆ 8 ด้านเช่น
1) รักษาเสถียรภาพทางการเมือง ความสงบเรียบร้อยของสังคม 2) บริหารเศรษฐกิจมหภาคให้เป็นไปตามทิศทางที่วางไว้ 3) ส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง 4) เน้นการพัฒนาบุคลากรในอนาคตโดยเน้นคุณภาพ 5) มุ่งพัฒนาชนบทและแก้ปัญหาความยากจนของราษฎรตามภารกิจที่ 3 เพื่อสร้างความเข้มแข็งและมุ่งเน้นมากขึ้น 6) คุ้มครองและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและเน้นการฟื้นฟูผลกระทบจากภัยธรรมชาติตามความสามารถที่แท้จริง 7) ปรับปรุงการบริหารราชการ เศรษฐกิจ สังคม ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เคร่งครัดและมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และ 8) เพิ่มความร่วมมือกับมิตรประเทศและหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาโดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความเชื่อมโยงตามทิศทางที่กำหนดไว้ในการประชุมใหญ่ของพรรคฯ สมัยที่ 11
โดยจะเน้นไปที่เป้าหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมให้มีความก้าวหน้าอย่างแข็งแกร่ง เช่น รัฐบาลตั้งเป้าให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2566 ขยายตัวที่ 4.5% ขึ้นไป มีรายได้ต่อหัว (จีดีพีต่อหัว) ไม่ต่ำกว่า 1,625 ดอลลาร์สหรัฐ และรายได้ประชาชาติเฉลี่ย (GNI) ต่อหัว 1,534 ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งเป้าที่จะผลิตสินค้าเกษตรให้ได้ 7.47 ล้านตัน อุตสาหกรรมแปรรูปและงานฝีมือให้ได้ 14.029 พันล้านกีบ ผลิตไฟฟ้าให้ได้ 51.134 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือมีมูลค่า 41.321 พันล้านกีบ ผลิตแร่ธาตุให้ได้ 19.795 พันล้านกีบ
รวมทั้งมุ่งที่จะสร้างมูลค่าการขนส่งของสินค้า (การขายส่ง การขายปลีก และค่าบริการซ่อมแซม) ให้สูงถึง 73.541 พันล้านกีบ บริการขนส่งสินค้าทางทุกช่องทาง (ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง) ให้ได้ 12.754 พันตัน การขนส่งผู้โดยสารบนถนนทุกสาย เป็นจำนวน 95,864 คน และตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน สปป.ลาว ประมาณ 1.4 ล้านคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 340 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
รัฐบาลได้วางแนวทางแผนการทำงานสำหรับปี 2566 โดยให้คำมั่นว่าจะดำเนินการที่แข็งขันขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชะงักงัน โดยเฉพาะการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และเพิ่มรายได้เพื่อเพิ่มอำนาจการใช้จ่าย
รัฐบาลได้ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายของวาระแห่งชาติ 2 วาระ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ และสกัดกั้นกระแสการค้ายาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้น
“เราจะไม่ยอมให้ประเทศของเราผิดนัดชำระหนี้โดยเด็ดขาด” นางทิพากอน จันทะวงสา โฆษกรัฐบาล กล่าวในการแถลงข่าวหลังปิดการประชุมของรัฐบาลที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี ดร.สอนไซ สีพันดอน เป็นประธาน และคณะรัฐมนตรี นายกเทศมนตรีนครเวียงจันทน์ เจ้าแขวง และผู้แทนหน่วยงานของรัฐต่างๆ เข้าร่วมประชุมหารือถึงแนวทางที่จะลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจมหภาคของประเทศจากผลกระทบภายนอก
แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีสัญญาณการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่ต้นทุนสินค้าและบริการก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบเป็นรายปีพุ่งขึ้น 39.27% ในเดือนธันวาคม
ผู้เข้าร่วมการประชุมเห็นชอบที่จะเร่งปรับการจัดเก็บรายให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลและสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ในขณะที่ดำเนินการมากขึ้นเพื่อลดการรั่วไหลทางการเงิน
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการชำระคืนเงินจากรัฐบาลให้กับบริษัทเอกชนที่ดำเนินโครงการพัฒนาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐ การชำระคืนหนี้เหล่านี้จะทำให้บริษัทเหล่านี้มีสภาพคล่องมากขึ้น และมีเงินทุนมากพอที่จะพัฒนาโครงการเพิ่มเติม
อีกทั้งรัฐบาลจะไม่ดำเนินโครงการที่ไม่จำเป็นซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐ แต่จะมุ่งเน้นไปที่โครงการลดความยากจนแทน
สิ่งสำคัญอีกด้านหนึ่งในโครงการปี 2566 คือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง การเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน และการผลักดันความคืบหน้าเพิ่มเติมในโครงการพัฒนาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุมัติ
นางทิพากอน ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต ตลอดจนการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการส่งออก ในขณะเดียวกันก็ต้องลดการนำเข้าด้วย
ที่ประชุมรัฐบาลยังได้รับรองเอกสารสำคัญ 5 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นรายงานการดำเนินโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญปี 2565 และแผนสำปี 2566 ฉบับที่สอง คือ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบที่มอบให้ภาครัฐเพื่อดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม งบประมาณ และแผนการเงิน พ.ศ. 2566
ฉบับที่สามเป็นรายงานเกี่ยวกับปัญหาและความท้าทายที่ธุรกิจในประเทศลาวต้องเผชิญ ซึ่งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับแนะนำให้เสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพิ่มเติมและให้การสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจมากขึ้น ส่วนเอกสารฉบับที่ 4 เป็นรายงานเกี่ยวกับความร่วมมือลาว-เวียดนาม ซึ่งกระตุ้นให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ ให้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งท่าเรือหวุงอ่างและสนามบินหนองค้างในแขวงหัวพัน
เอกสารสุดท้ายคือรายงานการจัดเก็บรายได้ในปี 2565 และแผนการจัดเก็บรายได้แบบดิจิทัลในปี 2566 รัฐบาลจะพยายามปรับปรุงการดำเนินงานที่ด่านพรมแดนระหว่างประเทศทั้งหมดให้ทันสมัยในปีนี้
ลาวมีแผนสร้างทางด่วน 5 เส้นทาง

ที่มาภาพ: https://www.laophattananews.com/archives/152111?fbclid=IwAR0ZoDFhTrKFUb-Cmh8MnROod3TG21RiCt7YwSN6HSwOOjrvOsR68g5H3Xs
1) ทางด่วนจากบ่อเต็น ในหลวงน้ำทามายังนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 นครหลวงเวียงจันทน์-วังเวียง ได้เปิดบริการแล้ว ส่วนที่ 2 วังเวียง-หลวงพระบาง ส่วนที่ 3 หลวงพระบาง-อุดมไซ อยู่ระหว่างขั้นตอนคัดเลือกบริษัทใหม่ที่มีคุณสมบัติและความพร้อมด้านต่างๆมาพัฒนา และส่วนที่ 4 อุดมไซ-บ่อเต็น อยู่ในกระบวนการเจรจาโดยกระทรวงแผนการและการลงทุน
2) ทางด่วนบ่อเต็น ในหลวงน้ำทามา ห้วยซายแขวงบ่อแก้ว ซึ่งแผนการก่อสร้างผ่านการรับรองแล้ว ปัจจุบันกระทรวงแผนการและการลงทุนดำเนินการเจรจาสัญญาสัมปทาน
3) ทางด่วนจากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปปากเซ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 จากนครหลวงเวียงจันทน์ ไปแขวงบอลิคำไซซึ่งผ่านการศึกษาทางเศรษฐกิจและเทคนิคแล้ว ส่วนที่ 2 จากปากซันแขวงบอลิคำไซ ไปท่าแขก (ทางแยกเส้นทางหมายเลข12) แขวงคำม่วน ส่วนที่ 3 จากท่าแขก (ทางแยกเส้นทางหมายเลข12) แขวงคำม่วน ไปแขวงสะหวันนะเขต (ทางแยกเส้นทาง9B) ส่วนที่ 4 จากแขวงสะหวันนะเขต ทางแยกเส้นทาง9B) ไปแขวงสาละวัน(ทางแยกเส้นทางหมายเลข15) ส่วนที่5 แขวงสาละวัน(ทางแยกเส้นทางหมายเลข15) ไปปากเซ แขวงจำปาสัก ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้
4) ทางด่วน (แนวใหม่) ขนานกับเส้นทางหมายเลข 12 จากเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ที่ท่าแขก ไปชายแดนลาว-เวียดนาม (นาเพ้า-จาลอ) แขวงคำม่วน ซึ่งผ่านการศึกษาทางเศรษฐกิจและเทคนิคแล้ว
5)ทางด่วน (แนวใหม่) ตั้งแต่ท่าง่อน เมืองไซทานี นครหลวงเวียงจันทน์ ไปบ้านนาช่างเหล็ก เมืองทุละคม แขวงเวียงจันทน์ ซึ่งผ่านการศึกษาทางเศรษฐกิจและเทคนิคแล้ว อยู่ในขั้นตอนสำรวจ ออกแบบรายละเอียดของโครงการ (Detail Design).
นายเวียงสะหวันให้ข้อมูลผลประโยชน์ที่ได้จากทางด่วนส่วนที่ 1 นครหลวงเวียงจันทน์-วังเวียง ว่า ผลทางตรงได้รับผลประโยชน์ตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยกระทรวงแผนการและการลงทุนในนามคู่สัญญาเป็นผู้ติดตามและคุ้มครอง ส่วนผลทางอ้อม ลดระยะเวลาการเดินทางจากเดิม 4 ชั่วโมงเป็น 1 ชั่วโมง เอื้อต่อการขนส่ง ลดอุบัติเหตุ และประชาชนสัญจรสะดวกมากขึ้น
ลาวเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ให้ข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจ
เว็บไซต์ใหม่ซึ่งสรุปขั้นตอนที่จำเป็นใน การจดทะเบียนธุรกิจในลาวเปิดตัวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะช่วยนักลงทุน จากการกระบวนการที่ลดความซับซ้อนลงจากระบบราชการที่ถือเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในประเทศมาช้านาน เว็บไซต์ Inventory Business Licenses ช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาอุตสาหกรรมต่างๆ และรับทราบถึงกระบวนการจดทะเบียน
แม้ว่าขั้นตอนการลงทุนจะยังไม่ได้รับการปรับปรุง แต่เว็บไซต์ใหม่ก็ถูกมองว่าเป็นก้าวสำคัญ ซึ่งช่วยลดขั้นตอนที่นักลงทุนต้องหาข้อมูลด้วยตนเองเกี่ยวกับวิธีเริ่มกระบวนการจดทะเบียนธุรกิจ
เว็บไซต์ http://www.bned.moic.gov.la/en มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาลาว ได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและการค้าของลาว (Lao PDR Competitiveness and Trade Project -LCTOP) และดำเนินการโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ โดยได้รับการสนับสนุนทางเทคนิคและการเงินจากธนาคารโลก และเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา
“การปรับปรุงระบบการออกใบอนุญาตในลาวให้คล่องตัวและง่ายขึ้น เป็นการปฏิรูปที่สำคัญเพื่อช่วยให้ประชาคมธุรกิจเติบโตและก้าวหน้า เว็บไซต์นี้จะช่วยให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจในประเทศ” Melise Jaud ตัวแทนจากธนาคารโลกกล่าว
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกล่าวว่าเว็บไซต์ IBL จะมีผลระยะยาวเช่นกัน โดยเป็นโอกาสในการเสริมสร้างบรรยากาศทางธุรกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล สร้างความไว้วางใจที่มากขึ้นและการรับรู้ที่ดีขึ้นเกี่ยวกับบริการของรัฐ
รัฐบาลลาวย้ำเสมอว่า จะพยายามปรับปรุงความสะดวกในการทำธุรกิจในประเทศ แต่มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย
กัมพูชาเปิดเอกชนลงทุน 100% โครงการรถไฟความเร็วสูงพนมเปญ-โฮจิมินห์

ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/501226654/cambodia-to-allow-100-percent-private-investment-in-phnom-penh-ho-chi-ming-high-speed-railway/
นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวเมื่อวันพุธ(25 ม.ค.)ว่า กัมพูชาจะอนุญาตให้ ภาคเอกชนลงทุน 100%ในทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่ที่เชื่อมระหว่างกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา กับโฮจิมินห์ซิตี้ของเวียดนาม
นายกรัฐมนตรียืนยันในการต้อนรับคณะผู้แทนฝรั่งเศสที่นำโดย Olivier Becht รัฐมนตรีผู้แทนการค้าต่างประเทศฯ จากการเปิดเผยของ Eang Sophalleth ผู้ช่วยส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีฮุน เซนกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุม
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้เอกชนลงทุนปรับปรุงเส้นทางรถไฟเดิมทั้ง 2 เส้นทางในรูปแบบ BOT (Build, Operate, Transfer)
Olivier Becht สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนฝรั่งเศสต่อการลงทุนในกัมพูชา ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องนานถึง 20 ปี การปฏิรูปอย่างต่อเนื่องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน และประชากรที่มีรายได้ปานกลางจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้ คณะผู้แทนฝรั่งเศสต้องการทำงานร่วมกับกัมพูชา เพื่อการลงทุนด้านรถไฟความเร็วสูง การขนส่งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ การก่อสร้าง พลังงานและภาคส่วนอื่นๆ และขอคำชี้แนะจากนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ในด้านสำคัญ
นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวว่า กัมพูชากำลังส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมแปรรูปด้วยวัตถุดิบของกัมพูชา เช่น มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวเปลือก เป็นต้น สำหรับความต้องการในประเทศและการส่งออก
ด้านพลังงาน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ากัมพูชาใช้พลังงานสะอาดประมาณะ 62% และดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่กัมพูชาไม่อนุมัติการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง
อินโดนีเซียเตรียมมาตรการจูงใจผู้ส่งออกเก็บเงินตราต่างประเทศ

นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต Coordinating Minister for Economic Affairs อินโดนีเซีย ที่มาภาพ : https://setkab.go.id/en/indonesias-economic-growth-estimated-to-rise-to-5-1-percent-next-year-coordinating-minister/
นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต กล่าวว่า รัฐบาลจะเสนออัตราดอกเบี้ยที่ “แข่งขันได้” ให้กับผู้ส่งออกที่ฝากรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศกับธนาคารในประเทศ
“เราต้องทำให้ [อัตราดอกเบี้ย] แข่งขันได้เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ เพื่อที่ [รายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ] จะไม่ไหลไปที่สิงคโปร์” นายแอร์ลังกา กล่าว โดยชี้ว่าสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเงินระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตามไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยควรจะเป็นหรือเวลาที่จะดำเนินการ เพียงกล่าวว่า ระยะเวลาการถือครองเงินตราต่างประเทศขั้นต่ำที่มองไว้คือ 3 เดือนในระบบการเงินของอินโดนีเซีย
นายแอร์ลังกากล่าวว่า ระยะเวลา 3 เดือนถือเป็นกันชนให้กับประทศในการรับมือกับความเสี่ยง รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปีนี้
“เราต้องการ [ดอลลาร์สหรัฐ] ที่เพียงพอเพื่อเป็นทุนในการส่งออกและนำเข้าของเรา”
รัฐมนตรีกล่าวว่า จะกำหนดมาตรการจูงใจไว้ในการแก้ไขกฎระเบียบปี 2562 ที่กำหนดให้ผู้ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติต้องฝากรายได้ไว้ในบัญชีพิเศษกับธนาคารในประเทศ
ก่อนหน้านี้ นายแอร์ลังกากล่าวว่า การแก้ไขกฎระเบียบยังครอบคลุมความเป็นไปได้ในการใช้เกณฑ์อัตราแลกเปลี่ยนกับผู้ส่งออกในภาคการผลิต และแรงจูงใจทางภาษีที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับเงินฝากพิเศษของผู้ส่งออก
นอกเหนือจากรัฐบาลแล้ว ธนาคารกลางของอินโดนีเซียยังวางแผนที่จะเปิดตัวเครื่องมือนโยบายการเงินใหม่ที่มุ่งให้ผู้ส่งออกได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าสำหรับเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศในประเทศ ซึ่งจะเริ่มใช้ในเดือนหน้า
ดานังเตรียมพัฒนาเขตปลอดภาษี
คณะกรรมการประชาชนของเมืองดานังได้เสนอแผนพัฒนาเขตปลอดภาษี โดยมีพื้นที่ครอบคลุม 151 เฮกตาร์ที่ปลายถนน Ba Na – Suoi Mo ซึ่งขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของศูนย์กลางเมือง 30 กิโลเมตรและใกล้กับรีสอร์ท Ba Na Hillsฝ่ายวางแผนและการลงทุนกลางของเมืองกล่าวว่า แผนพัฒนาเขตปลอดภาษีซึ่งได้ส่งไปยังกระทรวงการวางแผนและการลงทุนเพื่อให้พิจารณานั้น จะครอบคลุม ศูนย์การค้าที่มีสถานบันเทิง ร้านค้าปลอดภาษี ศูนย์กลางโลจิสติกส์ คลังสินค้า บริการด้านสุขภาพ การวิจัยและพัฒนา ศูนย์การศึกษานานาชาติ โรงเรียนแพทย์ และศูนย์นิทรรศการ ซึ่งเขตปลอดภาษีจะดึงดูดผู้ให้บริการการค้าโลก และผู้พัฒนาโครงการ
โครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2570 ขณะที่ฝ่ายวางแผนและการลงทุนกลางของเมือง ระบุว่า เขตปลอดภาษีจะดึงดูดนักลงทุนด้วยการยกเว้นค่าเช่าที่ดินเป็นเวลา 3 ปีในการก่อสร้าง และอีก 11 ปีปลอดค่าเช่าที่ดินในการดำเนินโครงการลงทุน
นักลงทุนจะเสียภาษีในอัตรา 10% เป็นเวลา 15 ปี ยกเว้นภาษี 4 ปี และลดภาษีเงินได้ 50% ในอีก 9 ปีข้างหน้า
แม้จะอยู่ในอันดับต้น ๆ ในดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนของจังหวัดในปี 2564 แต่ดานังยังคงมุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงหลังโควิด-19 เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ร้านค้าปลอดภาษีในตัวเมืองแห่งแรกเปิดตัวที่รีสอร์ทริมชายหาด Crowne Plaza Da Nang ในเขต Ngu Hanh Son เมื่อปลายปีที่แล้ว
ดานังมีแผนที่จะระดมทุนกว่า 7.9 ล้านล้านด่อง (316 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับโครงการลงทุนภาครัฐในปี 2566