เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 เวลา 13.30 น. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ครั้งที่ 1/2562 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เรื่องราวการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีทั้ง 4 สนามบิน ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ หาดใหญ่ เชียงใหม่ ภูเก็ต มีการท้วงติงในประเด็นการ “ผูกขาด” และประเด็นการวินิจฉัยว่าโครงการนี้จะเข้าข่ายโครงการร่วมทุนหรือไม่ มีการสั่งให้ทบทวนโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามด้วยการแลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” พร้อมกันนี้สมาคมค้าปลีก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน นักวิชาการ ก็ร่วมกันให้ข้อเท็จจริงที่ต่างจากทอท.แถลง (ดูข่าวเกี่ยวข้อง)

  • ทอท.เปิดคัดเลือกเอกชนรายเดียว ผูกขาดสัมปทานดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ 10 ปี เปิดขายซอง 19 มี.ค.นี้
  • AOT ข้ามขั้นตอน! เปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน ก่อนคลังคลอด กม.ลูก – กำหนดกิจการที่เข้าข่ายปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ใหม่
  • นายกฯ สั่ง “บอร์ด ทอท.” ทบทวนประมูลดิวตี้ฟรี – รายเดียว ผูกขาด 4 สนามบิน
  • คำต่อคำ! “นิตินัย” (ตอน1): ติวสื่อ จั่วหัวข่าว เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว – ระบุหลังเปิดเสรี pick-up counter เวลาผูกขาดดิวตี้ฟรีหมดลงแล้วจริงๆ
  • คำต่อคำ! คำถาม-คำตอบกับ “นิตินัย” (ตอนจบ) เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว มั่นใจแจงชัดทุกประเด็นหากหักล้างฟังไม่ขึ้นพร้อมเดินหน้าประมูลทันที – ตั้งข้อสงสัยสื่อที่ตีข่าวนี้ถูกซื้อ
  • สมาคมผู้ค้าปลีกไทยหักล้าง ข้อมูล ทอท. กรณี “TOR ดิวตี้ฟรีรายเดียว รวบ 4 สนามบิน” ทุกประเด็น ติง อย่าใช้เกณ์ “เอาคนที่ทำคะแนนไม่ดีรวมกับคนที่ทำคะแนนไม่ดี”
  • ทอท. เดินหน้าประมูลดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ เลือกรายเดียว เปิดขายซอง 1-18 เม.ย.นี้
  • แต่การสั่งการให้ทบทวนไม่ถึง 2 สัปดาห์ ทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ก็เร่งเดินหน้าต่อทันที

    กล่าวคือหลังจากพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา ตามกฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำกฎหมายลูก เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินงานต่างๆ ภายใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือที่เรียกว่า “คณะกรรมการ PPP” ได้เรียกประชุมคณะกรรมการ PPP นัดแรก ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

    นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการ PPP เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ PPP นัดแรกมีประเด็นที่สาระสำคัญอยู่ 2 เรื่อง ดังนี้

      1. หลังจากพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มีผลบังคับใช้ ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อรองรับการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และจัดทำแผนโครงการร่วมลงทุน เพื่อเป็นกรอบแนวนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการข้างต้นเป็นไปด้วยความรอบคอบ และเกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน วันนี้คณะกรรมการ PPP จึงได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน เพื่อกลั่นกรองและเสนอความเห็นในเรื่องต่างๆ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการ PPP เพื่อพิจารณาต่อไป

      2. คณะกรรมการ PPP ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย เร่งดำเนินการจัดทำร่างประกาศ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น พ.ศ. …. เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรีผ่านความเห็นชอบประกาศดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ต่อไป

    นายประภาศกล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายชุดนี้จะมีอัยการสูงสุดเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3-4 คน ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองงานด้านกฎหมายให้กับคณะกรรมการ PPP ทุกเรื่อง แต่เรื่องเร่งด่วนที่คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายต้องพิจารณาตอนนี้ คือ คำว่า “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มาตรา 7 วรรค 2 โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้จะต้องทำการศึกษาและกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาว่า “กิจการใดบ้างที่เข้าข่ายเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ตามกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบประกาศคณะกรรมการ PPP

    ล่าสุด ในวันเดียวกันนั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ได้ออกประกาศมา 2 ฉบับ เชิญชวนเอกชนเข้าประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดอากร และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามมติบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 5/2562 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 โดยที่ไม่รอผลคณะกรรมการ PPP ออกประกาศกำหนด โครงการร่วมลงทุนประเภทใดบ้างเข้าข่ายเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น และต้องปฏิบัติหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ฉบับใหม่ โดยนายประภาศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท.ได้ทำหนังสือมาสอบถาม สคร.แล้ว ว่าการเปิดประมูลสิทธิในสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยาน เข้าข่ายกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ ประเด็นนี้คงต้องรอคณะกรรมการ PPP พิจารณาออกประกาศกำหนดว่ามีกิจการใดบ้างที่เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ มาตรา 7 วรรค 2 สมมติ กิจการดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยาน ไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น หรือไม่มีอยู่ในรายการ (list) ตามประกาศคณะกรรมการ PPP กรณีนี้ ทอท.ก็สามารถเดินหน้าเปิดประมูลสัมปทานจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ต่อไปได้ แต่ถ้าประกาศคณะกรรมการ PPP กำหนดสัมปทานดิวตี้ฟรีและบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการท่าอากาศยาน ทอท.ก็ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ให้ถูกต้อง

    นายประภาศ คงเอียด
    ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

    กรณีที่ ทอท.ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปก่อน โดยไม่รอประกาศคณะกรรมการ PPP นั้น นายประภาศเข้าใจว่าทาง ทอท. มีความมั่นใจ โครงการดังกล่าวไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นต่อกิจการท่าอากาศยาน หากคณะกรรมการ PPP วินิจฉัยว่าไม่ใช่กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น ทอท.ก็เดินหน้าต่อไป ส่วนกิจการใดที่ไม่เข้าข่ายกิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็น หรือไม่ต้องปฏิบัติตามกระบวนการของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทางคณะกรรมการ PPP ก็จะมีการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขมาบังคับใช้กับโครงการร่วมลงทุนประเภทนี้ โดยการยกร่างประกาศของคณะกรรมการ PPP ฉบับ ก็จะอ้างอิงมาจากพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2561, ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการเปิดประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ ทอท. แต่ประเด็นสำคัญในตอนนี้คือ โครงการดังกล่าวเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องจำเป็น ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่ ยังไม่ได้วินิจฉัย

    “อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งนี้ ไม่ได้มีการพิจารณาเฉพาะโครงการร่วมลงทุนของ ทอท. แต่เป็นการพิจารณาโครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ตามมาตรา 7 (1)-(4) ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทุกโครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการร่วมลงทุนของกระทรวงคมนาคม เพราะมีโครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากที่สุด เช่น โครงการขนส่งทางถนน, ทางราง, ทางอากาศ และทางน้ำ เป็นต้น” นายประภาศกล่าว