ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าวกรณีบริษัทปตท.สั่งปิดแหล่งก๊าซเยดากุน สหภาพพม่า เพื่อปรับปรุง ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2554 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2555 ส่งผลให้ปริมาณก๊าซที่จำหน่ายลดลง ทำให้ปั๊มเอ็นจีวีที่อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศ และเขตฝั่งธนบุรี 16 แห่ง ต้องปิดให้บริการชั่วคราว ส่วนที่ปั๊มที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซอีก 39 แห่ง เปิดให้บริการเฉพาะรถใหญ่เท่านั้น รถเล็กเติมไม่ได้ เพราะก๊าซเอ็นจีวีที่ปตท.เอามาขายให้มีค่าความร้อนสูงกว่ามาตรฐานเล็กน้อย สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถเอ็นจีวีเป็นอย่างมาก ทั้งรถแท็กซี่ รถบ้าน รถตู้ ต้องใช้เวลาคิวรอเติมก๊าซล้นออกมานอกปั๊ม 40 แห่งที่ปตท.เตรียมไว้ให้ยาวเป็นกิโลเมตร
ทั้งนี้ ปตท.ได้ประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้าโดยส่งข่าวแจก (Press Release) ให้กับสื่อมวลชน พร้อมขึ้นเว็บไซต์ข่าวของปตท.ในวันที่ 26 ธันวาคม 2554 และนำประกาศหยุดจ่ายก๊าซไปติดที่ปั๊มก๊าซเมื่อวันที่ 27-28 ธันวาคม 2554 ใช้เวลาบอกกล่าวผู้บริโภคกันล่วงหน้า 2-3 วัน ทำให้ผู้ที่ใช้รถเอ็นจีวีต้องปรับแผนการทำงานและแผนการเดินทาง-ท่องเที่ยว แทนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวภาคตะวันตก หรือจะไปไหว้พระอยุธยา ก็ต้องปรับแผนเปลี่ยนไปเที่ยวภาคตะวันออกหรือภาคอื่นๆ แทน เพราะไม่มั่นใจว่าจะมีก๊าซเติมหรือไม่
สำหรับการปิดแหล่งก๊าซที่พม่าเป็นเรื่องที่วางแผนและหารือกันมานานระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับบริษัทปตท. เพื่อเตรียมแผนรับมือ ซึ่งกฟผ.ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนงานประจำปี และมีการตั้งสมมติฐานว่า ถ้าหากปตท.ปิดแหล่งก๊าซธรรมชาติเยดากุนและเยดานา เพื่อติดตั้งเครื่องเพิ่มแรงดันก๊าซ (Compressor) ทำให้ก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าหายไปจากระบบวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตจะทำอย่างไร
จากการสอบถามผู้บริหารระดับสูงของกฟผ.กล่าวว่า เรื่องนี้กฟผ.และปตท.ประสานงานกันมานานแล้ว เมื่อปตท.ไม่สามารถส่งก๊าซส่งให้ได้ กฟผ.ก็ต้องปิดโรงงานไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และก็ปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานน้ำแทน ซึ่งในช่วงดังกล่าวน้ำในเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณมากพอที่จะนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติได้
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ทางปตท.ไม่ได้แจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าในเวลาที่เหมาะสมเพื่อเตรียมพร้อมรับกับก๊าซเอ็นจีวีที่จะมีให้บริการลดลงวันละ 1,100 ล้านลูกบาศก์เป็นเวลา 12 วัน และไม่ได้แจ้งข่าวตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีแต่การรายงานให้ทราบเฉพาะแผนการลงทุนของปตท.ในอนาคต
นอกจากนี้ปตท.ไม่ให้ข้อเท็จจริงกับกลุ่มผู้ใช้รถเอ็นจีวีว่า ทำไมรถเล็กถึงเติมก๊าซเอ็นจีวีที่มาจากโรงแยกก๊าซจังหวัดระยองไม่ได้ ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากปตท.กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือก๊าซเอ็นจีวีที่ปตท.นำไปเติมลงให้กับปั๊มก๊าซที่อยู่ทางฝั่งตะวันตก เพื่อบรรเทาผลกระทบช่วงพม่าหยุดจ่ายก๊าซ เป็นก๊าซที่ผ่านกระบวนการแยกก๊าซแล้ว จึงมีก๊าซมีเทนในสัดส่วนที่เข้มข้นมาก ซึ่งเนื้อก๊าซมีคุณสมบัติเหมือนกับก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้กันอยู่ทางฝั่งตะวันออก โดยปตท.ต้องขออนุญาตกรมธุรกิจพลังงานเพื่อปรับคุณสมบัติก๊าซจากมาตรฐานเดิมชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อ่านกรมธุรกิจพลังงานแก้กฏชั่วคราว เปิดทางปตท.ขาย”เอ็นจีวี”ที่มีค่าความร้อนสูงกว่ามาตรฐานได้)
แต่ปั๊มที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกมีแท็งก์เติมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือไนโตรเจน กลับเข้าไป เพื่อทำให้สัดส่วนของมีเทนเจือจางลงมา ส่วนปั๊มที่อยู่ทางฝั่งตะวันตก ฝั่งธนบุรี ไม่มีแท็งก์เติมคาร์บอนไดออกไซด์ หากจะให้ปตท.ไปลงทุนติดตั้งแท็งก์ให้กับปั๊มที่อยู่ฝั่งตะวันตก คงจะไม่คุ้ม เพราะเป็นปัญหาชั่วคราวแค่ 12 วัน พอก๊าซพม่าสามารถจ่ายได้ตามปกติ ก็ต้องถอดออก ซึ่งประเด็นดังกล่าวประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าต้องปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่หากจะใช้ก๊าซที่ปตท.นำมาจำหน่าย
ทั้งนี้ในส่วนรถเล็กก็สามารถเติมก๊าซเอ็นจีวีที่ผ่านการแยกก๊าซได้ แต่ต้องปรับจูนเครื่องยนต์ใหม่
(อ่านปตท.เพิ่มปั๊มเติมเอ็นจีวี 24 ชม.พร้อมบริการปรับจูนเครื่องยนต์) โดยการปรับลดปริมาณก๊าซเอ็นจีวีที่จะจ่ายเข้าห้องเผาไหม้ลง แล้วเพิ่มอากาศเข้าไปแทน แต่ใช้ได้แค่ 12 วัน สถานการณ์กลับเข้าสู่ปกติ ก็ต้องกลับมาปรับจูนเครื่องยนต์กันใหม่ ผู้ใช้รถบางคนเข้าใจ บางคนไม่เข้าใจ เป็นเรื่องที่อธิบายยาก เพื่อตัดปัญหาความวุ่นวาย ปตท.จึงสั่งปั๊มที่อยู่ตามแนวท่อฝั่งตะวันตก ห้ามเติมก๊าซให้กับรถเล็ก ส่วนรถใหญ่ที่อนุญาตให้เติมได้ เพราะเครื่องยนต์จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า สามารถรองรับก๊าซเอ็นจีวีที่มีความเข้มข้นได้

นายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ที่มาภาพ :
http://www.tqa.or.th/th/node/1072 )
ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม 2555 บริษัทปตท.ได้ออกข่าวแจกโดยนายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่าขณะนี้บริษัทผู้ผลิตก๊าซที่เยตากุนได้เริ่มจ่ายก๊าซฯเข้าสู่ระบบตามปกติแล้วตั้งแต่เช้าวันที่ 7 มกราคม 2555 ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้รถเอ็นจีวีสามารถไปใช้บริการสถานีเอ็นจีวีทุกแห่งในพื้นที่ฝั่งตะวันตกได้ตามปกติตั้งแต่เช้าวันที่ 9 มกราคม 2555 เป็นต้นไป
ที่ผ่านมา ปตท.ได้นำก๊าซเอ็นจีวีจากฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) มาให้บริการในพื้นที่ฝั่งตะวันตก เพื่อบรรเทาผลกระทบ และจัดสรรพื้นที่สถานีบริการเอ็นจีวี สำหรับรถยนต์แต่ละประเภท รวมทั้งขยายจุดให้บริการรถเอ็นจีวีขนาดเล็ก ณ สถานีแนวท่อส่งก๊าซในช่วงเดินทางกลับจากเทศกาลปีใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้เอ็นจีวีในฝั่งตะวันตกได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วมากที่สุด ปตท. ต้องขอขอบคุณในความร่วมมือของผู้ใช้รถเอ็นจีวีที่ให้การสนับสนุนการบริหารจัดการครั้งนี้ด้วยดี และต้องขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น