วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ที่มาภาพ : ที่มา : https://www.thebetter.co.th/news/world/14271

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง “เกาะกูด” กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมไทยอีกครั้ง หลังจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่มีการกล่าวถึง “…การเจรจาประเด็นพื้นที่ซับซ้อนกับประเทศกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน…” แทรกอยู่ในนโยบายด้านพลังงาน ทำให้มีคนพยายามปลุกประเด็นการแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ให้เป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นในเรื่องการเสียดินแดน “เกาะกูด” ให้แก่กัมพูชา และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกบันทึกความเข้าใจ MOU 44 หรือ “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน” ซึ่งก็มีทั้งนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน นักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้รู้อื่น ๆ ต่างก็ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะ มีทั้งที่เห็นว่าควรบอกเลิก และที่เห็นว่าไม่ควรบอกเลิก MOU 44

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจที่จะค้นหาความจริงว่าประเด็นต่าง ๆ ที่มีการนำเสนอต่อสาธารณะมีข้อเท็จจริง และความเป็นมาอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่อง “เกาะกูด” ว่าเหตุใดจึงเป็นกลายปัญหาว่าเป็นดินแดนของใคร ทั้ง ๆ ที่เป็นที่ทราบกันดีว่า ตาม “สนธิสัญญาไทย (สยาม) – ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (Franco-Siamese Treaty of 1907)” ไทย “ยอมยกดินแดนเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโสภณ ให้แก่กรุงฝรั่งเศส” (ที่ปกครองกัมพูชาอยู่ในขณะนั้น) ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศส “ยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราด กับเกาะทั้งหลายที่อยู่ภายใต้แหลมสิงลงไป จนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม”

ระหว่างที่ผมรวบรวมข้อมูล เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับ “เกาะกูด” และ “เขตทางทะเล” ผมก็ไปพบประเด็นใหม่ที่เข้าใจว่ายังไม่มีใครเคยกล่าวถึง คือ

ข้อความใน “สนธิสัญญาไทย (สยาม) – ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (Franco-Siamese Treaty of 1907)” ที่ปรากฏในเอกสารคู่สัญญาที่ทำกันเป็น 2 ภาษา คือ “ภาษาไทย” และ “ภาษาฝรั่งเศส” นั้น มีเนื้อความบากประการที่คลาดเคลื่อนกัน

โดยฉบับภาษาไทย ที่ผมใช้ เป็นฉบับที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24 หน้า 344-349 ลงวันที่ 7 กรกฎาคม ร.ศ. 126 (พ.ศ.2450) ส่วนฉบับภาษาฝรั่งเศส ผมได้มาจากเพื่อนที่เคยเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งที่เผยแพร่อยู่ในวิกิซอร์ซ (Wikisource) ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องทั้งสองฉบับ

Traité français–siamois de 1907
ที่มา : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Franco-Siamese-Treaty-of-1907-FR.jpg

ที่มา : https://ratchakitcha.soc.go.th/

แน่นอนครับว่า ฉบับภาษาไทย “ผมอ่านออกครับ” ส่วนฉบับภาษาฝรั่งเศสนั้น ผมขอความช่วยเหลือจากรุ่นน้อง มช. ที่เรียนจบวิชาเอกภาษาฝรั่งเศส ปัจจุบันทำงานเกี่ยวข้องและใช้ภาษาฝรั่งเศส ให้ช่วยแปล ซึ่งข้อคความจากที่รุ่นน้องแปลให้นี้เอง ทำให้ผมเกิดคำถามที่ต้องออกมาหาผู้รู้ให้มาช่วย “บอกหน่อยได้ไหม ว่า “ทำไมข้อความในภาษาไทย กับฝรั่งเศสจึงไม่ตรงกัน” ครับ

ความแตกต่างของเนื้อความที่ผมพบ มีอยู่ 2 แห่ง คือ

(1) เนื้อความในข้อ 2 ของ “สนธิสัญญาฯ มีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับเกาะกูด ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าว คือ

จากการแปลความฉบับภาษาฝรั่งเศสของผู้เชี่ยวชาญ ได้เนื้อความดังนี้ ครับ

“ข้อ 2 รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ ใต้แหลมสิงจนถึงเกาะกูด และรวมเกาะกูดด้วย” นั้นให้แก่กรุงสยามตามกำหนดเขตร์แดนดังว่าไว้ ในข้อ 1 และ 2 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตร์แดนดังกล่าวมาแล้ว

ส่วนฉบับภาษาไทยในราชกิจจานุเบกษา หน้า 345 ปรากฏเนื้อความ ดังนี้

(2) เนื้อความในข้อ 5 ของ “สนธิสัญญาฯ มีตัวเลขที่คลาดเคลื่อนกัน โดยในเอกสารภาษาฝรั่งเศส ระบุถึง “ข้อ 9” ในสนธิสัญญา ฉบับปี ค.ศ. 1904 ส่วนฉบับภาษาไทยระบุถึง “ข้อ 11” ในสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งแม้ผู้ที่แปลภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ ก็ยังสามารถเห็นความแตกต่างในตัวเลขได้ ครับ

ส่วนฉบับภาษาไทยในราชกิจจานุเบกษา ปรากฏเนื้อความ ดังนี้

ผมลองไปสืบค้นข้อมูลต่อ ก็พบว่าในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 24 ฉบับเดียวกันกับที่ลงประกาศสนธิสัญญาไทย (สยาม) – ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 หน้า 368 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม ร.ศ.126 ได้มีประกาศ “บอกแก้” เพื่อแก้ไขความที่ลงประกาศสนธิสัญญา ในหน้า 345 ข้อ 2 โดยแก้ไขคำว่า “แหลมสิง” เป็น “แหลมลิง” และในหน้า 348 แก้ไขคำว่า “หนังสือญสัญา” เป็น “หนังสือสัญญา” ซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อนในการพิมพ์ ส่วนเนื้อความที่คลาดเคลื่อนจากภาษาฝรั่งเศสที่กล่าวมาข้างต้น ผมสืบค้นไม่พบว่ามีการ “บอกแก้” แต่อย่างใด

ผมจึงตั้งข้อสมมุติฐานไว้ว่า (1) เอกสาร “สนธิสัญญาไทย (สยาม) – ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (Franco-Siamese Treaty of 1907)” ทั้งฉบับภาษาไทย และฉบับภาษาฝรั่งเศส ที่ผมได้มานั้นเป็นสำเนาเอกสารที่ถูกต้อง มิได้มีการดัดแปลงแก้ไขใด ๆ และ (2) การแปล “ภาษาฝรั่งเศส” เป็น “ภาษาไทย” เกิดความคลาดเคลื่อนจริง อย่างไรก็ตาม นับเป็นความรอบคอบในการทำสนธิสัญญา เพราะความในข้อ 8 ของสนธิสัญญาฯ ระบุไว้ว่า “ถ้ามีข้อเถียงกันขึ้นในการแปลความหมายของหนังสือสัญญานี้ ที่ได้ทำไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศสนั้น จะต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก”

หากเป็นจริงดังที่ผมตั้งข้อสมมุติฐานไว้ ผมขอเสนอแนะให้ “รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ ทบทวนเอกสารดังกล่าว และจัดทำคำแปลใหม่ให้ถูกต้อง รวมทั้งส่งให้รัฐบาลฝรั่งเศสรับรองเอกสารใหม่อีกครั้งหนึ่ง” เพราะในอนาคต เราอาจต้องใช้เอกสารเหล่านี้ เป็นหลักฐานในการยืนยันกับประเทศกัมพูชา ที่อาจหยิบยกมาอ้าง ในขณะที่เรายังเข้าใจผิด “ตามคำแปลที่ผิด ๆ มาแต่ต้น” ก็เป็นได้ครับ หรือหากว่าข้อสมมุติฐานของผมผิด หรือผมเข้าใจผิด ขอความกรุณาผู้รู้ ช่วย “บอก (ผม) หน่อยได้ไหม” ครับ