ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ยังก้าวไม่พ้นกับดักรายได้รายปานกลาง ตัวเลขทางเศรษฐกิจชี้ชัดว่าในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราติดลบมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก และหลังมรสุมโควิดเราก็กลับมาฟื้นตัวได้ช้าและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค
ท่ามกลางความท้าทายรอบด้านทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและในระดับโลก อนาคตของประเทศไทยจะดีขึ้นได้อย่างไร? เป็นคำถามตั้งต้นสำหรับวงเสวนา หัวข้อ “Shaping Thailand’s Future: Key Priorities from Insightful Gurus” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ผ่านแพลตฟอร์ม RoLD Xcelerate เครือข่ายผู้นําเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 โดยมีวิทยากรที่มีบทบาทในวงการตลาดเงิน ตลาดทุน และเศรษฐกิจมหภาค ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเฉพาะอุปสรรคปัญหาที่เชื่อมโยงกับหลักนิติธรรม ประเด็นค้างคาใจ หรือ “Bucket List” ที่ยังขับเคลื่อนไม่สำเร็จ รวมถึงวิสัยทัศน์และข้อเสนอแนะที่เป็นทางออกสำหรับอนาคตของประเทศไทย

นายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ลดอำนาจรัฐ ปลดล็อกกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
นายบรรยง พงษ์พานิช กรรมการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ฉายภาพให้เห็นว่ารายได้ต่อหัวของประชากรโลกคงที่มานานกว่าพันปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1800 จึงเติบโตขึ้น 250 เท่า และด้วยประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น 8 เท่า เท่ากับว่าผลผลิตของโลกเพิ่มขึ้นถึง 2,000 เท่า ซึ่งสิ่งที่ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงเวลานั้นคือ มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดประชาธิปไตยจากการปฏิวัติอังกฤษและฝรั่งเศส เกิดวิชาเศรษฐศาสตร์ และเกิดตลาดการเงินยุคใหม่ ที่ทำให้ทรัพยากรในโลกถูกจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างก้าวกระโดด
จากการศึกษาปัจจัยเชิงสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพิจารณาดัชนีชี้วัดการประเทศพัฒนา 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1.รายได้ประชาชาติต่อหัวประชากร (GNI Per Capita) 2.ดัชนีการกระจายความมั่งคั่ง (Gini Index) 3.ดัชนีความเป็นประชาธิปไตย (Democracy Matrix) 4.ดัชนีความเป็นระบบทุนนิยมที่ดี (Economic freedom Index) 5.ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index) 6.ดัชนีชี้วัดคุณภาพด้านการศึกษา (PISA) 7.ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) และ 8.ดัชนีผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index) จะพบว่า 20 ประเทศที่ติดอันดับดีที่สุดในทุกดัชนีชี้วัดจะซ้ำกันเกือบทั้งหมด สะท้อนว่า ประเทศที่บรรลุเป้าหมายการพัฒนา 3 มิติ คือ “มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน” จะมีความเป็นประชาธิปไตยสูง มีความเป็นทุนนิยมที่แข่งขันกันอย่างสมบูรณ์ มีความโปร่งใส มีการศึกษาที่ดี และมีหลักนิติธรรมที่ดี
เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย จะพบว่า นอกจากเราจะไม่ติด 1 ใน 20 อันดับดีที่สุด เรายังถดถอยเกือบทุกดัชนีตัวชี้วัด เช่น ในปี 2566 ดัชนีการรับรู้การทุจริตอยู่อันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศ ดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมอยู่อันดับ 82 จาก 142 ประเทศทั่วโลก และหากย้อนดูอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 30 ปี
ที่ผ่านมา จะพบว่าเราได้ผ่านช่วงเวลาการเติบโตอย่างก้าวกระโดดก่อนฟองสบู่แตก หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 การเติบโตของเราลดลงเหลือประมาณ 5% หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์และน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 การเติบโตลดลงเหลือประมาณ 3% และวิกฤติโควิดสะท้อนให้เห็นว่า ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกใช้เวลาปีเดียวในการฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ แต่เราต้องใช้เวลานานกว่า 3 ปี และยังคงเติบโตต่ำเตี้ยอยู่ในปัจจุบัน
“จีนกับเวียดนามประกาศบอกประชาชนของเขาว่า ต้องอดทน เพราะเศรษฐกิจจะไม่เติบโต 9-10% เช่นที่ผ่านมา จะโตได้แค่ 6% ขณะที่เราบอกประชาชนว่าสบายใจได้ เศรษฐกิจเราจะเติบโต 2.5% และถ้ามองเป้าหมายการพัฒนาประเทศใน 3 มิติ คือ มั่งคั่ง ทั่วถึง ยั่งยืน ก็ชัดเจนว่าเราไม่ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาตั้งแต่ผมเกิด หวังว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วก่อนจะตาย ก็หวังยาก ถ้ายังเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ”
นายบรรยงขยายความเพิ่มเติมว่า สมัยก่อนเศรษฐกิจไทยมักเติบโตได้ดีในช่วงรัฐบาลเผด็จการ ทำให้หลายคนเชื่อว่าการปกครองแบบนั้นดี แต่จริง ๆ แล้ว เป็นเพราะในอดีตเราเติบโตจากฐานทรัพยากรและก้าวข้ามการเป็นประเทศรายได้ต่ำเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลาง (ระดับต่ำ) แต่ปัจจุบันเราเป็นประเทศรายได้ปานกลาง (ระดับสูง) ซึ่งจากตัวเลขทางเศรษฐกิจพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การจะก้าวสู่ประเทศรายได้สูง ไม่สามารถใช้สูตรเดิม ๆ ได้อีกต่อไป
ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศไทยคือ โครงสร้างรัฐไทยที่ใหญ่เกินไป ซึ่งมีข้อพิสูจน์ว่าการผูกขาดของรัฐ (Monopoly) ไม่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ต้องแข่งขัน บทบาทและอำนาจของรัฐยังเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะทำให้มีกฎหมายและใบอนุญาตจำนวนมากที่ขัดขวางการทำงานของตลาด ขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนสินค้าคอร์รัปชันชั้นดี ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามปฏิรูปกฎหมายเพื่อตัดลดทอนกฎหมายที่ล้าสมัยหรือเป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
“ระบบกฎหมายบ้านเราเป็นแบบ Civil Law จะแก้กฎหมายที ใช้เวลา 3 ปี ในขณะที่ศูนย์กลางการเงินของโลกอยู่ในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบ Common Law เช่น อังกฤษ อเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ เพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า ทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า และกฎหมายไทยมีเยอะมาก เรามีพระราชบัญญัติพันกว่าฉบับ กฤษฎีกา กฎกระทรวง รวมกันอีก 4 หมื่นฉบับ รวมคำสั่งต่าง ๆ อีกแสนกว่าฉบับ การปฏิรูปกฎหมายจึงสำคัญ แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ การปฏิรูปทุกครั้งจะมีคนเสียประโยชน์ เพราะเป็นการนำผลประโยชน์ที่กระจุกอยู่ไปกระจายสู่คนทุกคนจนแทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่คนเสียประโยชน์จะเห็นได้ชัดและลุกขึ้นมาต่อต้านทันที”
ในมุมมองของนายบรรยง การปลดล็อกประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ต้องมีการลดรัฐ ทั้งในแง่ของขนาด บทบาท และอำนาจ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพสูงคือ การเพิ่มความเป็นเอกชนในองค์กรของรัฐโดยการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ พร้อมยกตัวอย่าง การบินไทยที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจและมีผลประกอบการขาดทุน จนต้องเข้าสู่กระบวนการพื้นฟูกิจการโดยนำกฎเกณฑ์ความเป็นรัฐวิสาหกิจออกไป และทำให้การบินไทยได้ชื่อว่าเป็นสายการบินที่มีสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงาน หรือ “Operation Margin” ในปีที่ผ่านมาสูงสุดในบรรดาสายการบินระดับโลก

ศาสตราภิชาน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
พัฒนาทุนมนุษย์… ห้องเครื่องขับเคลื่อนอนาคตไทย
ศาสตราภิชาน ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาที่ยังพัฒนาไม่สำเร็จในหลาย ๆ ด้าน เห็นได้จากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศอย่างน้อย 13 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข ด้านสื่อมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านปัญหาสังคม ด้านปัญหาพลังงาน และด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงการปฏิรูปตำรวจ และการปฏิรูปด้านการศึกษาที่ได้มีการกำหนดระยะเวลาไว้ด้วย เพื่อขับเคลื่อนโจทย์ดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ศาสตราภิชาน ดร.ประสารจึงได้หยิบยกเครื่องมือที่ช่วยแปลงกลยุทธ์ขององค์กรไปสู่แผนการปฏิบัติงาน หรือที่เรียกว่า “Balanced Scorecard” มาประยุกต์ใช้ ซึ่งเชื่อว่ามีประโยชน์อย่างน้อยที่สุดคือ จะได้เห็นมุมมองในอนาคตว่ามี Bucket List เรียงอยู่ตรงไหน มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร และจะขับเคลื่อนอย่างไร
ศาสตราภิชาน ดร.ประสารขยายความว่า โดยปกติการทำ Balanced Scorecard ขององค์กรธุรกิจมักจะเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมาย (Mission Targets) และความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders’ Needs) เช่น การบริการที่สะดวกสบาย สินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายและทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพึงพอใจนั้น บริษัทต้องมีกระบวนการผลิตและการให้บริการ (Enabling Process) ที่ดี โดยจะต้องมีห้องเครื่องเป็นฐานคือ การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ซึ่งหมายถึง ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ
เมื่อได้มาแล้วต้องรู้จักรักษา มีแรงจูงใจ และพัฒนาการเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนองค์กร รวมทั้งมีการสร้างคุณค่าองค์กรที่ดี (Value System) เช่น ค่านิยมความขยันหมั่นเพียร รักความยุติธรรม เคารพสิทธิมนุษยชน ยึดถือเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คอร์รัปชัน เป็นต้น และที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าแม้องค์กรจะใหญ่เพียงใด แต่ก็ยังอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่กว่า ดังนั้น องค์กรจะเติบโตก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
สำหรับห้องเครื่องของประเทศไทย หนีไม่พ้นการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) แต่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายเรื่องประชากรสูงอายุ จากการสำรวจข้อมูลในปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีกำลังแรงงานประมาณ 70% หรือเท่ากับ 2 ต่อ 1 คน และคาดการณ์ว่าจะลดลงเหลือกว่า 50% หรือ 1 ต่อ 1 คน ในปี 2603 หรืออีก 40 ปีข้างหน้า
ด้านคุณภาพของทุนมนุษย์ ล่าสุดในปี 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับธนาคารโลก และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการสำรวจทักษะและความพร้อมของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานในประเทศไทย เป็นการวิจัยประเด็น “ทักษะพื้นฐานชีวิต” (Foundational Skills) ของเยาวชนและประชากรวัยแรงงานไทยอายุระหว่าง 15-64 ปี พบว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติขาดทักษะทุนชีวิต โดยกว่า 64% หรือ 2 ใน 3 คน ขาดทักษะการอ่านออกเขียนได้และจับใจความเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ (Literacy) กว่า 74% หรือ 3 ใน 4 คน ขาดทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skill) เช่น การใช้เว็บไซต์เพื่อทำงานง่าย ๆ และกว่า 30% หรือ 1 ใน 3 คน ขาดทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Socioemotional Skill) หรือความสามารถในการออกไปพบปะพูดคุยกับคนในสังคมได้
จากข้อมูลการสำรวจความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย ในทักษะพื้นฐานด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และความจำใช้งาน จากกลุ่มตัวอย่าง 43,213 คน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างปีการศึกษา 2562-2565 พบว่า เด็กปฐมวัยไทยกว่า 25% มีความพร้อมด้านความเข้าใจในการฟัง (Listening Comprehension) อยู่ในระดับที่ต่ำมาก
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ระดับการศึกษาของผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ที่สูงมากต่อการศึกษาของลูก โดยเด็กปฐมวัยที่มาจากครัวเรือนยากจนมีความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาต่ำกว่าเด็กปฐมวัยที่มาจากครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงกว่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นเริ่มต้นตั้งแต่เด็กก่อนเข้าสู่วัยประถมอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ จากข้อมูลผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ในปี 2565 พบว่า นักเรียนไทยที่มีอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ มีความสามารถด้านการอ่าน ด้านคณิตศาสตร์ และด้านวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าระดับ 2 ซึ่งเป็นระดับพื้นฐานที่นักเรียนสามารถใช้ทักษะและความรู้ในชีวิตจริงได้อยู่ที่ 65% 68% และ 53% ตามลำดับ
อีกประเด็นที่น่าสนใจในมิติของห้องเครื่องคือ หากมองกรอบเวลาที่ยาวพอ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จะเห็นว่าประเทศไทยได้ลงทุนทำสิ่งดี ๆ ไว้มากมาย อย่างเช่นการปฏิรูประบบราชการอย่างเต็มรูปแบบ แต่ระหว่างทางจะเห็นว่าเราอยู่กับที่มานาน ในขณะที่โลกพัฒนาก้าวหน้าไปไกลมาก แต่เรื่องการปลูกฝังวัฒนธรรมข้าราชการให้ทำงานเพื่อผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีกลับหายไปในระยะหลัง
สำหรับด้าน Enabling Process ของประเทศ เรื่องธรรมมาภิบาลและหลักนิติธรรมมีความสำคัญมาก และมีความเชื่อมโยงกันระหว่างตลาดและกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ โดยปกติตลาดจะทำงานได้ดีและมีพลังมาก เมื่อมีหลักนิติธรรมที่ดี แต่หากควบคุมมากเกินไป นอกจากจะใช้ทรัพยากรรัฐเกินจำเป็นแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อตลาดด้วย นักลงทุนต่างชาติมองว่า ตลาดของไทยอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากมาตรฐานสากลต่าง ๆ เช่น กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ด้าน Stakeholders’ Needs ของประเทศไทย ปัจจุบันมีความท้าทายจากแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับการเมืองไทยเป็นระบบที่ไม่ค่อยมีฉันทานุมัติในเชิงของการยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขโจทย์ใหญ่ ๆ ของประเทศได้
“Value System ของประเทศ เราอยากให้คนไทยให้มีความสนใจเรื่องการเมือง ความเป็นธรรม ความเสมอภาค เคารพในหน้าที่พลเมือง รักษาศีลธรรม จรรยาบรรณ เคารพกฎหมายและกติกาสังคม เคารพสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น แต่ก็มีความลึกซึ้งอยู่มาก ต้องอาศัยการค้ำจุนจากสถาบันในแต่ละจุด ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสากลก็มีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นโจทย์ว่าประเทศไทยจะเอาตัวรอดได้อย่างไร”
//////
ศาสตราภิชาน ดร.ประสาร กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยต้องมีการสร้างสมดุล 3 เสาหลัก คือ “ด้านกฎหมายระเบียบข้อบังคับ” ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยขับเคลื่อนโดยภาครัฐ แต่จุดอ่อนคือสร้างความอึดอัด ขัดขวางความคิดริเริ่ม มีต้นทุนสูง ปรับแก้ได้ยาก และอาจมีการใช้อำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์ได้ “ด้านการทำงานของตลาด” มีข้อดีคือเป็นไปตามแรงจูงใจและโอกาส และมีต้นทุนต่ำ แต่จุดอ่อนคือ มุ่งประโยชน์ส่วนตนซึ่งอาจสร้างผลกระทบต่อส่วนรวม จะเห็นได้ว่าทั้งกฎหมายและตลาดต่างก็มีจุดอ่อน จึงต้องมีเสาหลักที่สาม นั่นคือ “การปลูกฝังศีลธรรม จรรยาบรรณ” เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่าหากหลักนิติธรรมสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยก็จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
แต่สังคมไทยทุกวันนี้ คอร์รัปชันกลายเป็นเรื่องยอมรับได้ คนที่มีเงินสามารถซื้อความยุติธรรมได้ ทั้งยังเป็นที่ยอมรับ กราบไหว้ และเชิดชูของคนในสังคม
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ เช่น การบรรจุเรื่องปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 258 ไว้มากมาย แต่เป็นกฎหมายที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง หรือเหตุการณ์ตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในหลาย ๆ เรื่อง ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า หลักนิติธรรมของประเทศไม่สามารถทำงานได้ และทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือในหลักนิติธรรม
ในฐานะประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ ชี้ให้เห็นว่าได้เห็นคนไทยมั่งคั่งขึ้นจริง แต่เป็นลักษณะที่คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลสถิติการนำส่งกรณีความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-30 กันยายน 2567) ว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้นำส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวม 270 กรณี เป็นกรณีการสร้างราคาหรือปั่นหุ้น 128 กรณี (47.41%) การใช้หรือเปิดเผยข้อมูลภายใน 108 กรณี (40%) การแพร่ข่าวเท็จ 31 กรณี (11.48%) และกรณีรู้ก่อนซื้อก่อน หรือ Front Run 3 กรณี (1.11%) ซึ่ง ก.ล.ต. แจ้งผลกลับ 166 กรณี (61.48%) และดำเนินการทางกฎหมาย 100 กรณี (60.24%)
“สมัยก่อน บางเรื่อง ก.ล.ต. ใช้เวลาตรวจสอบ 5-6 ปี เพราะมีนโยบายว่าต้องพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยเสียก่อน โจรไม่กลัวกฎหมายแบบนี้ ตอนนี้ตอบกลับมา 61% ก็ถือว่าเยอะขึ้น ล่าสุดเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว เพิ่งมีการทำ MOU ระหว่าง ก.ล.ต. ปปง. และตลท. ซึ่งเราก็หวังว่าจะช่วยลดเวลาตรวจสอบ และมีการบังคับใช้กฎหมายให้เร็วขึ้น”
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์เชื่อว่า ความล่าช้าคือ การปฏิเสธความยุติธรรมในทุกเรื่อง และนักกฎหมายมักเชื่อว่าการเขียนกฎหมายจะแก้ไขปัญหาได้ แต่โดยส่วนตัวมองว่า หากมีกฎหมายแล้วคนไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีประโยชน์ การแก้ไขปัญหาต้องเริ่มที่การศึกษา ส่งเสริมความรู้สึกนึกคิดและทัศนคติการเคารพกติกาแก่คนในสังคม ปลูกฝังเรื่องการเป็นคนดี มีคุณธรรม ยึดมั่นในหลักจริยธรรม และหลักการที่ถูกต้อง ไม่ยอมมีข้อยกเว้น ถ้าไม่ถูกต้อง ดังคำกล่าวของศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัยที่ว่า…
“สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือสิ่งที่ผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น”
ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ย้ำว่า ที่ผ่านมาได้ทำสิ่งที่เป็น Bucket List ไปหมดแล้ว เช่น เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษีก็เคยเสนอแล้ว แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลไหนก็ไม่กล้าทำ เพราะกลัวเสียคะแนนนิยม แม้แต่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งซึ่งควรจะทำแต่ก็ไม่ได้ทำ ดังนั้น โดยส่วนตัวไม่มีอะไรค้างคาใจว่าไม่ได้ทำ เพียงแต่ทำแล้วไม่สำเร็จ ต้องฝากให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเครือข่ายผู้นําเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม (RoLD Xcelerate) ช่วยกันขับเคลื่อนต่อไป โดยเฉพาะเรื่องหลักนิติธรรม ทั้งการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความถูกต้องและจริยธรรม การปฏิรูปกฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วน กระบวนการออกกฎหมายที่รวดเร็ว ทันโลก ทันสมัย ทันการณ์ การบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียม การปฏิรูปการศึกษากฎหมายของทุกภาคส่วน เช่น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้ามีตำราเรื่องกฎหมายหลักทรัพย์ที่เป็นมาตรฐาน หากตำรวจ อัยการ DSI สั่งไม่ฟ้อง หรือศาลสั่งยกฟ้อง ก็ต้องตอบคำถามประชาชนและสามารถถูกตรวจสอบได้
“การฟื้นฟูหลักนิติธรรมเป็นเรื่องใหญ่ แต่ต้องทำ ตอนนี้ทุกองค์กรมีปัญหาทำงานแบบไซโล ต้องมีการสลายไซโล เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทุกคนในหลักสูตร RoLD ทำตัวเองให้พร้อม ถึงเวลาคุณจะช่วยกันเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้”