“วัน แบงค็อก” เปิดเส้นทางสู่ “The Heart of Bangkok…เมืองกลางใจ” เมืองที่ใช้ใจสร้าง การออกแบบที่มองคนเป็นตัวตั้ง มุ่งเส้นเลือดฝอย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและเพื่ออนาคตที่ดีกว่าทุกมิติ พร้อมจัดงาน Sustainability Expo 2024 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน

เสวนา “Pathways to a Sustainable Urban Future เส้นทางสู่อนาคตเมืองที่ยั่งยืน”

วัน แบงค็อก ได้จัดเสวนา “Pathways to a Sustainable Urban Future เส้นทางสู่อนาคตเมืองที่ยั่งยืน” โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด และนางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดำเนินการเสวนาโดยนางสาวอาลิซาเบธ แซดเลอร์ ลีนานุไชย

นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี สร้างเมืองน่าอยู่

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืนว่า คำว่า Sustainability คือการที่เอาทรัพยากรมาใช้ประโยชน์โดยคำนึงถึงคนรุ่นต่อไปในทุกเรื่อง ซึ่งไม่ใช่แค่มิติของเรื่องก๊าซเรือนกระจก แต่เป็นทุกเรื่องทั้งเรื่องอากาศและโอกาสของคนรุ่นใหม่หรืออื่นๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับกรุงเทพมหานครเป็นทั้งเมืองอันดับหนึ่งที่มีคนเข้ามาท่องเที่ยวมากที่สุด ปีที่ผ่านมา 28 ล้านคน ขณะเดียวกันติดอันดับ 98 จาก 110 เมืองที่ไม่ค่อยน่าอยู่ ซึ่งนายชัชชาติพร้อมย้ำว่าความน่าอยู่และความยั่งยืนมันเกี่ยวข้องกัน

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า “อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เป้าหมายให้ติดอันดับประมาณ 50 โดยได้ทำนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี สอดคล้องกับแนวทางสร้างความยั่งยืนของสหประชาชาติ เพราะความน่าอยู่กับความยั่งยืนเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าเมืองไม่ยั่งยืนก็ไม่น่าอยู่ หมายถึงการอยู่ร่วมกันของคนทุกคนอย่างมีความสุข การผลักดันให้เกิดเมืองน่าอยู่ต้องมีแผนปฏิบัติการที่ละเอียด ขณะนี้เรามีนโยบายเชิงปฏิบัติจาก 216 แผน เพิ่มมาเป็น 226 แผนปฏิบัติการ

“หัวใจของความยั่งยืนคือการทำตามแผนปฏิบัติการ หรือ action plan เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายใหญ่ ที่ผ่านมาคนไม่ค่อยสนใจเรื่องความยั่งยืน เพราะว่าเราตั้งเป้าหมายไกลเกินตัวมากไป อีก 30 ปีข้างหน้า เราจะเดินสู่ net zero แต่พรุ่งนี้สำหรับบางคนจะอยู่รอดอย่างไรยังไม่รู้เลย ทำให้ความเข้าใจเรื่องความยั่งยืนไกลตัว”

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า “การสร้างเมืองเหมือนกับร่างกายของคน มีทั้งเส้นเลือดใหญ่ เส้นเลือดฝอย เส้นเลือดใหญ่คือโครงการขนาดใหญ่ แต่ในเมืองไม่ใช่แค่เส้นเลือดใหญ่แต่คือเส้นเลือดฝอยด้วย ซึ่งปัญหาของเมืองที่ผ่านมาเราไปเน้นเรื่องของเส้นเลือดใหญ่เยอะ เราพัฒนาโครงการพันล้าน หมื่นล้าน แต่เราลืมโครงการเล็กๆ ที่ประชาชนสัมผัสได้ เช่น เรื่องการเดินทาง เรามีรถไฟฟ้า ตอนนี้หลากสีเกือบ 400 กิโลเมตร แต่ไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ ถ้าฟุตบาทในการเดินเท้าไม่ดี มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างขนส่งคน หรือมีรถเล็กตามซอยเพื่อขนส่งคนภายใน 15 นาทีได้ สุดท้ายก็กลับมาใช้รถยนต์ส่วนตัวเหมือนเดิม”

“ที่ผ่านมา กทม. พยายามจะสร้างความยั่งยืนจากเส้นเลือดฝอย เช่น การปรับปรุงทางเท้า มีทางจักรยาน และสร้างสวนสาธารณะ 15 นาที ให้คนสามารถเดินทางมาใช้สวนใกล้บ้านได้ โดยมีเป้าหมาย 500 สวน แต่ตอนนี้เราทำไปแล้ว 120 สวน ขณะที่เรื่องขยะเราทำให้เกิดการแยกขยะ จนสามารถประหยัดค่าจัดการขยะไปแล้ว 141 ล้านบาท ส่วนเรื่องน้ำท่วมเรามีอุโมงค์ขนาดใหญ่ แต่จะทำงานได้ ท่อระบายน้ำต้องไม่มีขยะ ซึ่งเราได้ขุดลอกไปแล้ว 4 พันกิโลเมตร และปรับปรุงจุดเสี่ยงน้ำท่วมทั้งหมด”

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า การสร้างความยั่งยืนจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป้าหมายต้องเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนที่อยู่อาศัย โดยที่ผ่านมา การทำให้เส้นเลือดฝอยทำงาน สร้างกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

“การสร้างความยั่งยืน ทำเพียงหน่วยงานเดียวไม่ได้ ต้องร่วมกันเป็น 4 เกลียว คือ 1. รัฐบาล 2. การศึกษา 3. ประชาชน 4. เอกชน เป็นเกลียวร่วมกัน ที่ผ่านมา กทม. สร้างความร่วมมือ เช่น ร่วมกับเอกชนปลูกต้นไม้จากเป้าหมาย 1 ล้านต้น ตอนนี้ปลูกได้ 1.2 ล้านต้น และทุกต้นมีแอปติดตามการเติบโตทั้งหมด นี่คือความร่วมมือที่จะสร้างพลัง สร้างความยั่งยืนได้”

สร้างคนสุขภาพ สร้างเมืองที่ยั่งยืน

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความยั่งยืน หากเป็นเรื่องของชีวิตของคนเราเกิดแก่เจ็บตายตามหลักพุทธศาสนา ไม่มีอะไรยั่งยืน อะไรเกิดมา ตั้งอยู่ดับไป แต่เราจะทำอย่างไรให้เป็นวงจรที่ไปข้างหน้าได้ คือการปรับตัวและการสร้างนวัตกรรม

ส่วนคำว่าเมือง คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงตึกรามบ้านช่อง ถนน รถไฟฟ้า แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดของเมืองคือคน ถ้าเมืองประกอบด้วยพื้นที่ คน และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมืองจะยั่งยืนหรือไม่อยู่ที่คน เพราะฉะนั้น เราต้องการคนแบบไหนที่จะสร้างเมืองให้ยั่งยืน คือคนสุขภาพดี มีทัศนคติที่ดี มีการดำรงชีวิตที่เอื้อให้เกิดความยั่งยืน

“ผมว่าแม้ว่ามีจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีหมด แต่ถ้าคนที่อยู่ไม่ทำให้เมืองยั่งยืนได้ มันก็จะไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข เรามองเรื่องคนเป็นหัวใจสำคัญ โดยเราดูเรื่องสุขภาพที่ดี ให้คนมีอายุยืน แต่เมืองใหญ่ที่มีคนหนาแน่น สภาพแวดล้อมที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ โดยจากเดิมคนเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อ แต่ปัจจุบันคนที่เสียชีวิตมาจากอุบัติเหตุ มะเร็ง และหัวใจ หลอดเลือด หรือโรคโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCD)”

นพ.โอภาสกล่าวว่า ในส่วนของโรค NCD มาจากสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษทั้งเรื่องอากาศ น้ำ มลพิษทางด้านจิตใจ ทำอย่างไรที่จะทำให้เมืองของเรามีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้คนสุขภาพดี และทำให้เมืองมีความยั่งยืนได้

“การสร้างสุขภาพที่ดี เรื่องของ 3 อ. อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย เรากำลังดูเรื่องของภาษี ที่ช่วยให้มีการออกกำลังกาย และสามารถนำมาลดภาษีได้ และออกเป็นกฎหมาย NCD เพื่อส่งเสริมให้คนออกกำลังกาย ส่วนในเรื่องอารมณ์ คนไทยเครียดมากขึ้น สำรวจเมื่อไหรก็เจอว่ามีความเครียด คาดว่ามาจากโชเซียลมีเดีย หรือมีข้อมูลข่าวสารที่มากเกินไป ทำอย่างไรให้เรามีวิจารณญาณในการเสพข้อมูลเหล่านั้น”

นอกจากนี้ นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เมืองน่าอยู่ คนก็ต้องดีด้วย สุขภาพมีความสำคัญ ต้องสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ แต่ กทม. เป็นเมืองที่เข้าถึงสาธารณสุขได้ยากมากที่สุดเพราะการเดินทาง ฉะนั้น สังคมเมืองจึงต้องการ green hospital เป็นหน่วยปฐมภูมิ เทรนด์อสังหาฯ ในอนาคต คือการสร้างชุมชนแบบเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ง่ายและประหยัดที่สุด เช่น คลินิก 24 ชั่วโมง การแพทย์ทางไกล (telemedicine) รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี AI ต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ ส่งเสริมสุขภาพได้อย่างตรงกับไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน

“ผมคิดว่า ร่างกายดี สติปัญญาดี ที่จะสามารถพัฒนาให้สังคมให้ดีได้ แต่ผมเห็นว่า ความเครียดเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนมนุษย์ให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ แต่จำเป็นต้องมีการเรียนรู้เรื่องการรับข้อมูลข่าวสาร ปรับตัวเข้ากับชีวิตประจำวัน ต้องมีสถานที่ที่เอื้อต่อสุขภาพและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง” นพ.โอภาสกล่าว

นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด

การออกแบบอสังหาฯ คือการออกแบบคุณภาพชีวิต

ขณะที่นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด กล่าวว่า “ในฐานะเอกชน เรามองการพัฒนาอสังหาฯ สอดคลองกับนโยบายของ กทม. โดยเฉพาะเส้นเลือดฝอย เช่น การมองปัญหารอบด้านเพื่อให้การออกแบบอสังหาฯ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร ทำให้เรามองจุดด้อยของเมือง และแก้จุดเหล่านั้นทั้งในเรื่องของอากาศ หรือการเป็นเมืองที่มีรถติด เพราะเรามีรถอยู่ใน กทม. 12.5 ล้านคัน เราจึงสร้างเมืองให้รถไม่ได้สร้างเมืองให้คน ผมคิดว่าเราจะสร้างโอกาสในการพัฒนาชีวิต และสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อการลงทุน”

“ในยุคใหม่เรามองการออกแบบอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่การออกแบบด้วยหิน เหล็ก ปูน แต่เป็นการออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิต สร้างเมืองในรูปแบบกรีนสมาร์ทซิตี้ ใช้งานได้หลากหลาย (Mix-Used) ให้ผู้อยู่อาศัยในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดปัญหาจราจร ด้วยการพัฒนาผ่านการสร้างพื้นที่สีเขียว สร้างเส้นทางการเชื่อมโยง เป็นเมือง 15 นาที สะดวกสบายต่อการคมนาคม และสร้างสันทนาการ เกิดความเชื่อมโยงของคนทุกคนในสังคม จึงเป็นการออกแบบที่มองคนเป็นตัวตั้งและมองถึงเส้นทางของผู้ใช้ ”

โครงการ One Bangkok “The Heart of Bangkok” หรือ “เมืองกลางใจ” ที่ใช้ใจสร้าง ด้วยการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในโครงการ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น และมอบประสบการณ์ใหม่ของการใช้ชีวิต สร้างแรงบันดาลใจด้วยงานศิลปะ และวัฒนธรรมให้กับทุกคน รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่ง One Bangkok มีพื้นที่สีเขียวกว่า 80,000 ตร.ม. ประกอบไปด้วยพืชศาสตร์นานาพันธุ์ ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงและพื้นที่ศิลปะ ซึ่งในอนาคตคาดว่าภาคอสังหาฯ จะมีการวางโครงสร้างความยั่งยืนผ่านทุกภาคส่วน

ปรับการดำเนินชีวิต รักษาสิ่งแวดล้อม

ด้านนางสาวเข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การสร้าความยั่งยืนเป็นเรื่องท้าทายที่ว่า ระหว่างการสร้างความยั่งยืนกับความสะดวกสะบายของตัวเอง เราจะเลือกแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารและการบริโภคของเรา ซึ่งเราจะเลือกแหล่งที่มาอาหารแบบไหนที่สร้างความยั่งยืนได้

นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องของการใช้ single-use หรือของที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น พลาสติก อย่างเช่นเวลาเราดื่มกาแฟ มีขยะพลาสติกจากแก้วกาแฟหลายชิ้น ถ้าเรานำเอากระป๋องไปใส่เอง ช่วงแรกอาจจะยุ่งยาก แต่ถ้าเราปรับตัวกับมันก็ไม่ใช่เรื่องยากและช่วยลดขยะลงไปได้

“พลาสติก เขาเกิดมาเพื่อให้เราสะดวกสบาย แต่แน่นอนว่าเขาอยู่กับเราอีกหลายร้อยปีมากๆ เลยเพราะฉะนั้น พลาสติก 1 ชิ้น เราใช้คุ้มค่าแค่ไหน เช่น แก้วกาแฟที่มีพลาสติกหลายชิ้น แต่เราใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีใช้แล้วทิ้ง แต่การพกกระบอกน้ำไม่ค่อยสะดวก การปรับตัวมาใช้ชีวิตเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมตอนแรกไม่ชินเลย แต่พอเราค่อยๆ ปรับก็ค่อยๆ ดีขึ้น ถ้าเราปรับตัวในการใช้ชีวิตเราจะสร้างความยั่งยืนได้”

เปิดเส้นทางการเดินทางสู่ “The Heart of Bangkok”

สำหรับเปิดเส้นทางการเดินทางสู่ “The Heart of Bangkok” หรือ “เมืองกลางใจ” ที่ใช้ใจสร้าง ด้วยการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในโครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น และมอบประสบการณ์ใหม่ของการใช้ชีวิต สร้างแรงบันดาลใจด้วยงานศิลปะ และวัฒนธรรมให้กับทุกคน รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ภายในงานจัดให้มีเสวนาพิเศษในหัวข้อ “Pathways to a Sustainable Urban Future เส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน” และ “Time to CHANGE: Shaping Bangkok’s Future เปลี่ยนวันนี้ เพื่ออนาคตกรุงเทพฯ ที่ยั่งยืน”

นายวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการ วัน แบงค็อก กล่าวว่า “วัน แบงค็อก ได้เข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุน งาน Sustainability Expo มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว ปัจจุบันปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของผู้คน เราจึงมุ่งมั่นสร้างมาตรฐานใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองต้นแบบแห่งอนาคต “กรีนสมาร์ทซิตี้” เมืองที่เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อสุขอนามัยที่ดี ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในทุกมิติ

ทั้งนี้ วัน แบงค็อก เป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองโดยมาตรฐาน LEED for Neighborhood Development ระดับแพลทินัม รวมถึงมาตรฐาน WiredScore และ SmartScore ในระดับแพลทินัมเช่นเดียวกัน ทั้งยังมุ่งสู่การรับรองโดยมาตรฐานรับรองอาคาร WELL เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยและผู้ใช้บริการอีกด้วย

ภายในงานมีนิทรรศการ One Bangkok Experiential Pavilion ที่ใช้เทคนิค 360 Degree Projection Mapping Theatre นำเสนอแนวคิด Better Quality of Life in One Bangkok มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตแบบองค์รวมด้วยองค์ประกอบต่างๆ ภายในโครงการที่ครอบคลุมใน 3 มิติ

physical vitality เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับทุกคน เช่น การออกแบบทางเดินเท้าที่สามารถเดินทั่วทั้งโครงการภายใน 15 นาที ด้วยระยะทางเดินยาวต่อเนื่อง 5 กิโลเมตร โอบล้อมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์เรียงรายยาว 2.6 กิโลเมตร ให้ทุกคนได้เดินเล่นพักผ่อนได้อย่างสบายใจ อาคารต่างๆ ภายในโครงการเปิดรับแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่ พร้อมระบบปรับแสงสว่างอัตโนมัติ รวมถึงระบบกรองอากาศและฆ่าเชื้อประสิทธิภาพสูงเพื่ออากาศที่สะอาดสดชื่น ตลอดจนระบบตัดเสียงรบกวนจากภายนอกโครงการ

mental & social rejuvenation เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีด้านสังคมและจิตใจ ด้วยพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งทั่วทั้งโครงการรวมกันกว่า 50 ไร่ เช่น ในบริเวณ One Bangkok Park รวมถึง Parade Park และ Wireless Park เป็นต้น เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์กิจกรรมสันทนาการต่างๆ ทางสังคมและชุมชน นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างแรงบันดาลใจ และสุนทรียภาพแห่งการใช้ชีวิต ด้วย Art Loop ศูนย์รวมผลงานและโปรแกรมทางศิลปะและวัฒนธรรมระดับโลกรอบโครงการความยาวกว่า 2 กิโลเมตร เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์สำหรับทุกคน

safe & secure environment ใส่ใจดูแลความสะดวกสบายและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการและผู้พักอาศัยภายในโครงการตลอด 24 ชั่วโมงด้วย district command center ศูนย์บัญชาการกลางที่ควบคุมบริหารจัดการระบบต่างๆ และดูแลความปลอดภัยภายในโครงการด้วยเซ็นเซอร์อัจฉริยะกว่า 250,000 ตัว เพิ่มความมั่นใจและความปลอดภัยสูงสุด นอกจากนั้น ยังออกแบบพื้นที่ตามมาตรฐานสากล (universal design) ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการใช้รถเข็น หรือการปูทางเท้าสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น หรือพิการทางสายตา รวมถึงการออกแบบป้ายและสัญลักษณ์นำทางที่เข้าใจง่ายทั่วโครงการ

สำหรับผู้สนใจร่วมสัมผัสประสบการณ์ในการสร้างสรรค์เมืองแห่งความยั่งยืนในงาน Sustainability Expo 2024 ระหว่างวันที่ 27 กันยายน ถึง 6 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซน Better Community บริเวณฮอล 4 ชั้น G และเตรียมพบกับการเฉลิมฉลองแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ที่ วัน แบงค็อก สถานที่ที่คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคนจะกลายเป็นจริง ผ่านการออกแบบที่คำนึงถึงความสุขของทุกคนในทุกมิติ เพื่อให้เมืองนี้ไปอยู่กลางใจของทุกคน ได้ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2567

อนึ่ง “วัน แบงค็อก” โครงการอสังหาริมทรัพย์ต้นแบบกรีนสมาร์ทซิตี้ ใจกลางกรุงเทพฯ พัฒนาโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีวิสัยทัศน์หลักคือการใส่ใจและคำนึงถึงผู้คนเป็นหลัก (people centric) มุ่งรังสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนอย่างยั่งยืน ในงาน Sustainability Expo 2024 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้แนวคิดหลักของการจัดงาน “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก”