ASEAN Roundup ประจำวันที่ 20-26 ตุลาคม 2567
เวียดนามคาดเศรษฐกิจปี 2568 ใหญ่อันดับ 4 ของอาเซียน

นครโฮ จิมินห์ ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Ho_Chi_Minh_City_metropolitan_area#/media/File:DJI_0550-HDR-Pano.jpg
เศรษฐกิจเวียดนามในช่วงปี 2564 ถึง 2568 มีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 6% อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดในระดับภูมิภาคและระดับโลก และมีอันดับที่ดีขึ้นจากอันดับที่ 37 เป็นอันดับที่ 34 และคาดว่าจะไต่ขึ้นสู่อันดับที่ 33 ในปีหน้า
นอกจากนี้ GDP ต่อหัวคาดว่าจะเติบโต 31.7% จาก 3,720 ดอลลาร์ในปี 2564 เป็น 4,900 ดอลลาร์ในปี 2568 นายกรัฐมนตรีกล่าว
ในช่วงปี 2564-2568 เวียดนามได้ทะลุเกณฑ์ของประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่าง และตัวชี้วัดการพัฒนามนุษย์ก็ดีขึ้นพอสมควร
ดัชนีความสุขโลก(World Happiness Index)ประจำปี 2567 ขององค์การสหประชาชาติ จัดให้เวียดนามเลื่อนขึ้น 11 อันดับเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2566 มาอยู่อันดับที่ 54 จาก 143 ประเทศและเขตปกครอง
“ความสำเร็จเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประเทศของเราไม่เคยมีความโดดเด่น มีศักยภาพ และศักดิ์ศรีระดับนานาชาติดังเช่นทุกวันนี้มาก่อน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการเร่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผน 5 ปี ซึ่งมีเป้าหมายหลัก คือ การเติบโตของ GDP ที่ 6.5-7%
ในปี 2569-2530 รัฐบาลตั้งเป้าหมายการเติบโตของ GDP ต่อปีที่ 7.5-8.5% โดย GDP ต่อหัวจะอยู่ที่ 7,400-7,600 เหรียญสหรัฐฯภายในปี 2573 กลายเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางระดับบน ที่มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่และขนาดเศรษฐกิจประมาณ 780-800 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
“ด้วยความเร็วขนาดนี้ เวียดนามจะติด 1 ใน 30 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก” นายกรัฐมนตรีกล่าว และว่า ซึ่งจะเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับประเทศที่จะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงภายในปี 2588
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ รัฐบาลตั้งเป้าที่จะมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญตามยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
โดยภายในสิ้นปี 2568 คาดว่าประเทศจะมีทางด่วนที่มีความยาวมากกว่า 3,000 กิโลเมตร
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะดำเนินการโครงการสำคัญๆ หลายโครงการในช่วงปี 2569-30 รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและพลังงาน
รัฐบาลจะยังคงปรับปรุงสถาบันและกฎหมาย เพิ่มการกระจายอำนาจ ลดความซับซ้อนของขั้นตอนการบริหาร และลดต้นทุนการบริหารสำหรับประชาชนและธุรกิจ
รวมไปถึงจะมีการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความก้าวหน้าในด้านประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพ และความสามารถในการแข่งขัน
เวียดนามคาด GDP ต่อหัวแตะ 4,900 เหรียญสหรัฐในปีหน้า

นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนามในการประชุมสมัชชาแห่งชาติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-expects-gdp-per-capita-to-hit-4-900-next-year-4806684.html
นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์กล่าวในการประชุมสมัชชาแห่งชาติเมื่อเช้าวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ว่า GDP ต่อหัวของเวียดนาม จะเพิ่มขึ้น 5% เป็น 4,900 ดอลลาร์ในปีหน้า หากเวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 7% ในปีนี้
นอกจากนี้เวียดนามจะพยายามบรรลุการเติบโตที่ 7-7.5% ในปีหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขึ้นไปอยู่ในอันดับที่ 31-33 ในการจัดอันดับโลก เพิ่มขึ้น 1-3 อันดับนับจากนี้
รัฐบาลวางแผนที่จะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆของแรงผลักดันการเติบโตแบบดั้งเดิม เช่น การลงทุน การส่งออก และการบริโภค ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมแรงผลักดันใหม่ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสีเขียวและดิจิทัล และอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์
โดยจะมุ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้างสถาบันการเงิน การจัดการกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และการแก้ไขปัญหากับธนาคารที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลพิเศษ
นอกจากนี้จะมีการเร่งการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการสำคัญระดับชาติ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมภาคพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนและแหล่งพลังงานใหม่ เช่น ไฮโดรเจน
“เราต้องไม่ปล่อยให้ไฟฟ้าดับ”
ในปีหน้า รัฐบาลวางแผนที่จะเปิดตัวอาคารผู้โดยสาร 3 แห่งใหม่ที่สนามบินนานาชาติเติ่นเซินเญิ้ตในโฮจิมินห์ซิตี้ และอาคาร 2 ที่สนามบินนานาชาติโหน่ยบ่ายในกรุงฮานอย อีกทั้งส่วนประกอบหลักที่สนามบินนานาชาติสนามบินนานาชาติล็องถั่นในจังหวัดด่งนาย ทางตอนใต้
นอกจากนี้มีแผนจะเริ่มก่อสร้างโครงการทางรถไฟลาวกาย-ฮานอย-ไฮฟอง และจะสร้างทางหลวงมากกว่า 3,000 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าปีนี้เกือบ 1,000 กิโลเมตร
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในปีนี้ รัฐบาลได้จัดสรรเงินเกือบ 700 ล้านล้านด่อง (28.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อการขึ้นค่าแรง ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในภูมิภาคที่สูงถึง 6% สำหรับแรงงาน
ความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานปรากฏชัด โดยเฉพาะในด้านการขนส่งและพลังงาน โดยการก่อสร้างทางหลวงระยะทาง 2,021 กิโลเมตรแล้วเสร็จ
แต่ยังคงมีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก เช่น อัตราเงินเฟ้อและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การเติบโตของสินเชื่ออยู่ในระดับปานกลาง และแรงกดดันในการชำระหนี้ก็เพิ่มขึ้น
ภาคธุรกิจยังคงเผชิญกับความท้าทาย โดยมีบริษัท 163,800 แห่งปิดตัวลงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ซึ่งเพิ่มขึ้น 21.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี
อุปสงค์ในประเทศมีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่การเกินดุลการค้ายังคงต้องพึ่งพาภาคการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศอย่างมาก
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กำลังเพิ่มขึ้นแตะ 4.7% เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม
หวู ฮอง แทงห์ ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจของสมัชชาแห่งชาติ แสดงความกังวลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูง และการเข้าซื้อกิจการธนาคารที่อ่อนแอที่ล่าช้า
แม้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังคงมีความยากลำบาก ความไม่สมดุลในโครงสร้างผลิตภัณฑ์ได้ผลักดันราคาอพาร์ทเมนท์ให้สูงขึ้นทั้งในตลาดหลักและตลาดรอง ทำให้ผู้ซื้อบ้านที่แท้จริงซื้อที่อยู่อาศัยได้ยาก
ราคาที่ดินในเขตเมืองและชานเมืองของฮานอยเริ่มสูงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะในเขตชานเมือง
ขณะเดียวกัน การที่มีการทิ้งการประมูลหลังจากชนะการประมูลที่ดินได้ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยชะงักงัน “การเก็งกำไรและการบิดเบือนในตลาดที่ดินได้ผลักดันราคาให้สูงขึ้น ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนทั่วไปและธุรกิจที่จะซื้อที่ดิน”
แทงห์ยังกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการเบิกจ่ายการลงทุนสาธารณะ โดยมีการเบิกจ่ายเพียง 47.3% ของงบประมาณในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เทียบกับ 51.4% ในปีก่อนหน้า จึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา
นายกรัฐมนตรีชี้แจง โดยยืนยันความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะให้มีการเบิกจ่ายการลงทุนสาธารณะขั้นต่ำที่ 95% ภายในสิ้นปี และแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดิน
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า รัฐบาลจะทบทวนนโยบายเพื่อป้องกันการทุจริตและผลเชิงลบในโครงการสำคัญระดับชาติ โดยเน้นการปรับปรุงกระบวนการทางสถาบันและการบริหาร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีสำหรับบริษัทและประชาชน
คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยังเน้นไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่การเพิ่มขีดความสามารถภายใน การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค และการควบคุมอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน และเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนธุรกิจในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากไต้ฝุ่นยากิ เพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์และพยากรณ์ และแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อป้องกันการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์
รวมทั้งเสนอแนะให้กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและกระจายตลาดส่งออก เพื่อบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลกให้ลึกมากขึ้น
อินโดนีเซียสนใจเป็นสมาชิก BRICS
อินโดนีเซียแสดงความสนใจในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ที่นำโดยรัสเซีย ซึ่งถือเป็นการหันเหทางการทูตต่างประเทศครั้งใหญ่ครั้งแรกจาก “นโยบายเพื่อนบ้านที่ดี”(good neighbor policy) ตามการเสนอของประธานาธิบดี ปราโบโว ซูเบียนโต ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง
กลุ่ม BRICS ซึ่งก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเพื่อต่อต้านการครอบงำของชาติตะวันตก สมาชิกดั้งเดิมนำโดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้มารวมกัน จึงเป็นที่มาของชื่อย่อ ต่อมาได้เปิดรับสมาชิกใหม่ คือ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนซาอุดีอาระเบียยังไม่ได้เข้าร่วม BRICS อย่างเป็นทางการ แม้ว่าได้รับคำเชิญจากกลุ่มก็ตาม
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย สุกิโอโนเปิดเผยถึง ความประสงค์ของอินโดนีเซียในการเป็นสมาชิกในการประชุมสุดยอด BRICS Plus ที่เมืองคาซานของรัสเซียเมื่อวันพฤหัสบดี(24 ตุลาคม)ตามเวลาท้องถิ่น
สุกิโอโนกล่าวว่า BRICS สามารถกลายเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมผลประโยชน์ของ “Global South” ซึ่งเป็นคำที่โดยทั่วไปหมายถึงประเทศกำลังพัฒนา
อินโดนีเซียยังปฏิเสธว่า ความเป็นไปได้ที่จะเป็นสมาชิก BRICS นั้นหมายถึงว่ากำลังเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยกล่าวว่าจะยังคงมีส่วนร่วมกับเวทีอื่นๆ และประเทศเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าต่อไป
“อินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่ม BRICS สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายต่างประเทศที่แข็งขันและเสรีของประเทศ” สุกิโอโนกล่าวในแถลงการณ์ที่เผยแพร่เมื่อคืนวันพฤหัสบดี
ลาวพร้อมเป็นสมาชิก BRICS เต็มรูปแบบ
สปป. ลาว ประสงค์และพร้อมที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS อย่างเต็มตัว ประธานาธิบดีทองลุน สีสุลิด กล่าวในการประชุมเต็มคณะ BRICS Plus ครั้งที่ 16 ซึ่งที่มีขึ้นในเมืองคาซาน รัสเซียระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567“จากความสำเร็จที่สำคัญของ BRICS และความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของสมาคมบนเวทีโลก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประสงค์ที่จะประกาศอย่างเป็นทางการถึงความสนใจในการเป็นสมาชิกของ BRICS” นายทองลุน กล่าว “เราพร้อมที่จะยกระดับปฏิสัมพันธ์ของเรากับ BRICS ในประเด็นต่างๆที่หลากหลาย เราหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนและยอมรับลาวในฐานะสมาชิกของกลุ่ม BRICS ในอนาคต” ผู้นำลาวกล่าวกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน
การประชุมสุดยอด BRICS ครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นงานสำคัญของการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มของรัสเซีย จัดขึ้นที่เมืองคาซานระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม ในวันที่สองของการประชุมสุดยอด ผู้เข้าร่วมได้รับรองปฏิญญาคาซาน(Kazan Declaration) ประเด็นหลักของปฏิญญษประกอบด้วยการพัฒนาของกลุ่ม ตำแหน่งในประเด็นระดับโลก การยุติวิกฤติการณ์ระดับภูมิภาค รวมถึงในยูเครนและตะวันออกกลาง
กลุ่ม BRICS ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 โดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน โดยมีแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2554 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 อียิปต์ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเอธิโอเปียได้เข้าร่วมกลุ่ม การประชุมสุดยอดคาซานเป็นครั้งแรกที่ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมในฐานะสมาชิกเต็มรูปแบบ
เขตเศรษฐกิจพิเศษเวียงจันทน์ดึง FDI กว่า 622 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2024/10/25/vientiane-special-economic-zones-attract-over-usd-622-million-in-investment-in-first-nine-months-of-2024/
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 5 แห่งของเวียงจันทน์ ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทใหม่ในประเทศและต่างประเทศ 39 แห่ง รวมมูลค่าเงินลงทุน 622.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และทุนจดทะเบียน 224.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายประจำปีของเมืองที่ตั้งไว้ที่ 35 บริษัท
ข้อมูลล่าสุดนี้ได้มีการเปิดเผยในการประชุมที่สำนักงานรัฐบาลประจำเวียงจันทน์ นำโดยรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศลาว นายสุลีวัด สุวันนะจูมคำ และรองผู้ว่านครหลวงเวียงจันทน์ นางสิลิลัต หนองสิน ทองเพ็ง การประชุมประเมินความคืบหน้าตามวาระแห่งชาติและเป้าหมายที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 9
รองผู้ว่าสิลิลัตรายงานเกี่ยวกั การดำเนินการในการดึงดูดการลงทุนอย่างต่อเนื่องของเวียงจันทน์ ซึ่งเริ่มในปี 2564 โดยมีโครงการที่ครอบคลุมหลายภาคส่วน รวมถึงเกษตรกรรมและป่าไม้ อุตสาหกรรมและการค้า สื่อ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ตลอดจนการก่อสร้างและการคมนาคม
จนถึงขณะนี้มีโครงการ 12 โครงการที่ดึงดูดความสนใจของนักลงทุน ในจำนวนนี้ มี 7 รายที่ได้รับการอนุมัติการลงทุนและสัมปทาน ส่วนอีก 4 รายอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ และ 1 รายยังอยู่ในขั้นตอนการเสนอ
เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ขตพัฒนากวมรวมไซเสดถา เขตเศรษฐกิจพิเศษบึงทาดหลวง เขตเศรษฐกิจพิเศษล็องถั่น-เวียงจันทน์ เขตเศรษฐกิจพิเศษดงโพสี และเขตโลจิสติกส์เวียงจันทน์ กำลังมีความคืบหน้า โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงอาคารที่พักอาศัยและโรงงาน
ในบรรดาการลงทุนใหม่ 39 รายการนั้น 24 รายการมาจากบริษัทต่างประเทศ 7 รายการมาจากบริษัทในประเทศ และ 8 รายการเป็นการร่วมทุน จนถึงปัจจุบัน การลงทุนที่รับรู้แล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 40.32 ล้านเหรียญสหรัฐ
การเติบโตที่แข็งแกร่งนี้ตอกย้ำตำแหน่งเชิงกลยุทธ์ของเวียงจันทน์ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศลาว
มาเลเซียเน้น Inclusivity-Sustainability ในวาระประธานอาเซียนปี 2568
มาเลเซียมุ่งมั่นที่จะสร้างความไว้วางใจเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ผ่านการพูดคุย การทูต และสันถวไมตรี ที่ยังต่อเนื่อง ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2568 จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีต่างประเทศ ดาโต๊ะ สรี โมฮัมหมัด ฮาซัน
ในการเปิดตัวโลโก้และแนวคิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกชบา (บุหงา รายา) คือ “ความทั่วถึง(Inclusivity)และความยั่งยืน(Sustainability)สำหรับการเป็นประธานอาเซียน-มอลจีเซีย ปี 2568 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ดาโต๊ะโมฮัมหมัด กล่าวว่าด้วยการทำงานร่วมกับประเทศสมาชิก มาเลเซียพยายามที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปยังประเทศอื่นๆ
มาเลเซียจะยังคงผลักดันความมุ่งมั่นที่มากขึ้นในการยกระดับการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน ขณะเดียวกันก็จะดูแลให้อาเซียนจะสามารถได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ
ในการย้ำถึงสิ่งที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆผ่านการเป็นประธาน ดาโต๊ะโมฮัมหมัดกล่าวว่ามาเลเซีย จะดูแลให้องค์ประกอบของความทั่วถึงและความยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวคิดหลักสำหรับปี 2568 เป็นประเด็นสำคัญในความพยายามสร้างประชาคมระดับภูมิภาคของอาเซียน
“สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความพยายามมากขึ้นในการลดช่องว่างการพัฒนา และยกระดับมาตรฐานการครองชีพไปพร้อมๆ กับการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ลาวได้ส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนอย่างเป็นทางการให้กับมาเลเซียในการประชุมสุดยอดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ครั้งที่ 44 และ 45 ที่เวียงจันทน์ โดยนายกรัฐมนตรี ดาโต๊ะ สรี อันวาร์ อิบราฮิม รับค้อนประธานอาเซียนจาก นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว
ดาโต๊ะอันวาร์ชี้ว่า ตำแหน่งประธานของมาเลเซียจะเริ่มต้นบทใหม่ภายใต้ “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045”
เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบ MADANI หรือมาเลเซียใหม่ ดาโต๊ะโมโฮหมัดกล่าวว่า มาเลเซียได้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงของความทั่วถึงและความยั่งยืน ซึ่งเป็นประเด็นหลักของวาระในช่วงการเป็นประธานอาเซียนและหลักการเหล่านี้จะฝังอยู่ในทุกแง่มุมของความร่วมมืออาเซียน
ในปี 2568 ดาโต๊ะอันวาร์กล่าวว่า อาเซียนจะเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน และมาเลเซียมุ่งมั่นที่จะนำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2045 มาปรับใช้ ซึ่งจะกำหนดความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในอีก 20 ปีข้างหน้า
“ผมเชื่อมาโดยตลอดว่าในฐานะประชาคม เราไม่เพียงแต่ยืนหยัดเท่านั้น แต่ยังมีชัยเหนืออุปสรรคต่างๆ มากมายที่มีร่วมกันตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราบรรลุผลสำเร็จตามแนวทางของอาเซียน” ดาโต๊ะอันวาร์กล่าว
มาเลเซียเคยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2520, 2540, 2548 และ 2558
อาเซียนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 ปัจจุบันประกอบด้วยประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
ส่วนสมาชิกภาพเต็มของติมอร์-เลสเตยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
ไทย-กัมพูชาเสริมสร้างความร่วมมือพื้นที่ชายแดน
“อนุทิน” นำผู้แทนไทยร่วมประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 8 ส่งเสริมความสัมพันธ์แน่นแฟ้น ผ่านความร่วมมือ 10 ประเด็น เศรษฐกิจ ความมั่นคง พร้อมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตปีที่ 75 ในปี 2568 นี้
จากเว็บไซต์กระทรวงมหาดไทย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันที่ 24 ต.ค. 67 ณ โรงแรม Sokha Phnom Penh Hotel & Residence กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นประธานร่วมฝ่ายไทยพร้อมนำคณะผู้แทนฝ่ายไทยเข้าร่วมการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 8 โดยฝ่ายกัมพูชามี ฯพณฯ อภิสันติบัณฑิต ซอร์ ซกคา (H.E. Mr. Abhisantibindit Sar Sokha) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประธานร่วมฝ่ายกัมพูชา
การประชุมร่วมฯ ดำเนินภายใต้หัวข้อ “การเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมในพื้นที่ชายแดน” ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและยืนยันที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุกมิติระหว่างจังหวัดชายแดนรวมถึงการเสริมสร้างพรมแดนร่วมกันที่สงบสุขมีมิตรภาพ มีการร่วมมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้ง 2 ประเทศ เน้นย้ำ การเสริมสร้างความร่วมมือหลากหลายด้านใน 10 ประเด็น ดังนี้
1. การข้ามแดน : ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างการปฏิบัติตามความตกลง ว่าด้วย การข้ามแดนระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งลงนาม เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 และกระตุ้นให้หน่วยงานจังหวัดชายแดนร่วมมือในการควบคุมการข้ามพรมแดน
2. ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนบริเวณชายแดน: ทั้งสองฝ่ายกระตุ้นและสนับสนุนให้หน่วยงานจังหวัดชายแดนร่วมกันส่งเสริมการค้าชายแดน เช่น การจับคู่ ธุรกิจ การส่งเสริมการสัมมนาการลงทุน การจัดงานแสดงสินค้า การขนส่งสินค้าผ่านแดน การนำเข้า – ส่งออกสินค้าทางการเกษตร ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการประชุม คณะกรรมการการค้าร่วมระหว่างไทยและกัมพูชา และส่งเสริมความร่วมมือของภาคเอกชน ในสองประเทศ และทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะอำนวยความสะดวกในการขนส่งผลิตภัณฑ์ ทางการเกษตรข้ามแดน โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว
3. ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม: ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนนักลงทุนของสองประเทศที่ดำเนินกิจการในจังหวัดชายแดน
4. การคมนาคมขนส่ง: ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะเสริมสร้างและขยายความร่วมมือ ในด้านการขนส่งและการเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน ที่รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ตกลงที่จะจัดตั้งด่านชายแดนในพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพ ในกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะสนับสนุนการพัฒนาบริการขนส่งสินค้า ทางรถไฟข้ามแดนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านการคมนาคมขนส่ง
5. ความร่วมมือด้านการเกษตรบริเวณชายแดน: ทั้งสองฝ่ายส่งเสริมให้จังหวัดชายแดนของทั้งสองประเทศอำนวยความสะดวกในการค้าขายสินค้าทางการเกษตร ของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณตามแนวชายแดน และทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะส่งเสริม ความร่วมมือในด้านการป้องกันและจัดการป่าไม้ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการป้องกันการค้าของเถื่อนข้ามแดนในผลิตภัณฑ์ป่าไม้และสัตว์ป่า
6. ความร่วมมือด้านแรงงาน: ฝ่ายกัมพูชาได้แสดงความขอบคุณและรับทราบถึงฝ่ายไทยที่ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมกลับเข้าประเทศ สำหรับแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 ถึง 15 พฤษภาคม 2567 และทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ ที่จะส่งเสริมการจัดฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ประชาชน ตามบริเวณชายแดน เพื่อพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะให้ คำแนะนำเจ้าหน้าที่จังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ในการป้องกันและจับกุมหัวหน้ากลุ่มผู้กระทำผิดกฎหมายที่ลักลอบนำเข้าแรงงานข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายมายังทั้งสองประเทศ
7. จุดผ่านแดน: ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมมือในการเร่งรัดการดำเนินการในการเปิดจุดผ่านแดนที่ยังคงเหลืออยู่ที่เห็นชอบร่วมกันโดยรัฐบาลของทั้งสองประเทศ และเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการยกระดับจุดผ่านแดนใหม่ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและอำนวยความสะดวกในการค้าชายแดน และการคมนาคมข้ามแดน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณจุดผ่านแดน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการข้ามแดนที่มากขึ้นระหว่างสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดในการลด ความซับซ้อนและทำให้กระบวนการการสัญจรข้ามแดนระหว่างสองประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรข้ามแดน และแก้ไขความแออัดบริเวณจุดผ่านแดน
8. การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน: ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในการเสริมสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน และทั้งสองฝ่ายยืนยันในเจตนารมณ์ ที่จะไม่นำเอาประเด็นเส้นเขตแดนมากระทบความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ และงดเว้นการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน
9. การลักลอบตัดไม้โดยผิดกฎหมาย: ทั้งสองฝ่ายกระตุ้นให้หน่วยงานในจังหวัดชายแดนร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า และอาชญากรรม ที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติตามบริเวณชายแดนกันต่อไป
10. การป้องกัน และการปราบปราม อาชญากรรมบริเวณชายแดน: ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะขยายความร่วมมือในด้านความปลอดภัย ความเป็นระเบียบ และความมั่นคง เพื่อรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และความปลอดภัยของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่าย ยกย่องชื่นชมกองกำลังที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ในการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ ตามบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ และตกลงที่จะดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งสองฝ่ายย้ำถึงจุดยืนร่วมกันที่ไม่อนุญาตให้ผู้ใดใช้ดินแดนของทั้งสองฝ่ายแทรกแซงกิจการภายในต่อกัน หรือใช้ดินแดนเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมคุกคามความมั่นคงของอีกฝ่าย รวมถึงประเทศอื่นด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้หารือความร่วมมือด้านอื่น ๆ ระหว่างจังหวัดชายแดนของทั้งสองประเทศ และเห็นพ้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องที่ และท้องถิ่น ประชุมหารือร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ สลับกันเป็นเจ้าภาพ โดยความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด ชายแดน ท้องที่ และท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ และในปีหน้า พ.ศ. 2568 ทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมแสดงความยินดีอย่างยิ่งในโอกาสครบรอบ 75 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อไป โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 9 ซึ่งจะมีการประสานผ่านช่องทางทางการทูต เพื่อกำหนด วัน เวลา และสถานที่การจัดการประชุมต่อไป
สำหรับคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมในการประชุมร่วมฯ ครั้งนี้ ประกอบด้วย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รองอธิบดีกรมการปกครอง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดชายเเดนไทย – กัมพูชา 7 จังหวัด ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ จ.สระแก้ว จ.ศรีสะเกษ จ.ตราด จ.จันทบุรี จ.สุรินทร์ และ จ.อุบลราชธานี