สุนิสา กาญจนกุล รายงาน
ระบบนิเวศที่ค้ำจุนชีวิตของมนุษยชาติกำลังเผชิญวิกฤติหนักอีกครั้ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ระบุว่ามหาสมุทรซึ่งเป็นอีกหนึ่งเขตแดนสำคัญของโลก กำลังถูกรุกรานด้วยปรากฏการณ์ทะเลเป็นกรด จนอันตรายเกือบจะถึงขั้นวิกฤติ
ความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงแต่ทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลอยู่ยากกว่าเดิม แต่ยังส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศด้วย เนื่องจากมหาสมุทรดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลงกว่าเดิม
นักวิทยาศาสตร์หวาดเกรงกันว่า หากข้ามจุดพลิกผันนี้ไป อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่อาจย้อนกลับได้ และกลายเป็นหายนะสำหรับประชากรหลายพันล้านคน รวมทั้งคนรุ่นต่อๆ ไปในโลกใบนี้

ภาพซ้ายคือเปลือกหอยทากทะเลที่มีสภาพปกติ ส่วนภาพขวาคือเปลือกหอยทากทะเลที่ถูกกัดกร่อนจนละลายเพราะภาวะทะเลเป็นกรด ที่มาภาพ: https://www.seadocsociety.org/blog/tag/pteropods
ทะลุขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก
กรอบความคิดเรื่องขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก (planetary boundaries) ถูกนำเสนอครั้งแรกเมื่อปี 2009 โดยโจฮัน ร็อกสตรอม แห่งมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มในสวีเดน และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติอีก 28 คน และกลายเป็นกรอบความคิดซึ่งเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ในการประเมินเสถียรภาพและความยืดหยุ่นของสิ่งแวดล้อมโลก
โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกมีด้วยกัน 9 ขอบเขต คือ
ปัจจุบันขีดจำกัดความปลอดภัยทั้งเก้าถูกละเมิดไปแล้วถึง 6 ขอบเขต และภาวะทะเลเป็นกรดคือเขตแดนที่ 7 ที่กำลังถูกล่วงล้ำ จนใกล้ถึงขั้นอันตรายเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์
ในอนาคตอีกราว 30 ปีข้างหน้า (ปี 2050) นักวิทยาศาสตร์ทำนายว่าร้อยละ 86 ของน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น และเมื่อถึงปี 2100 ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำทะเลที่พื้นผิวมหาสมุทรอาจลดต่ำลงกว่า 7.8 ซึ่งอาจทำให้มหาสมุทรมีภาวะความเป็นกรดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 20 ล้านปี
ทะเลเป็นกรดได้อย่างไร
มหาสมุทรทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจึงเพิ่มปริมาณขึ้นในอัตราเร่งตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปดเป็นต้นมา ส่งผลให้มหาสมุทรดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินเหล่านั้นเอาไว้ ซึ่งเป็นผลดีในแง่ของการช่วยบรรเทาสภาวะโลกร้อนและการรักษาสภาพภูมิอากาศ แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างของมหาสมุทรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น มหาสมุทรจึงดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศมากขึ้นด้วย เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำปฏิกิริยาเคมีกับน้ำทะเลจนกลายเป็นกรดคาร์บอนิก ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำทะเลจึงเปลี่ยนแปลงไป
รายงานชื่อ “ตรวจสุขภาพโลก – Planetary Health Check” ของสถาบันวิจัยผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ พอตสดัม (Potsdam Institute for Climate Impact Research หรือ PIK) ระบุว่า ความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงแต่ทำให้มหาสมุทรหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตได้ยากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้ศักยภาพในการช่วยรักษาเสถียรภาพของสภาพภูมิอากาศลดต่ำลงด้วย เนื่องจากสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง
ผลกระทบที่ชัดเจน
นอกจากผู้คนจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์จะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศมากขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มปัญหาภาวะโลกร้อนแล้ว ภาวะทะเลเป็นกรดยังส่งผลโดยตรงต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตด้วย
เลฟเก ซีซาร์ นักฟิสิกส์ด้านสภาพภูมิอากาศที่ PIK ผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่า ภาวะทะเลเป็นกรดกำลังย่ำแย่ลงในทุกที่ แต่ในมหาสมุทรทางใต้และมหาสมุทรอาร์กติกนั้นเลวร้ายที่สุด
ว่ากันว่าในพื้นที่อ่อนไหวอย่างมหาสมุทรอาร์กติก การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้อีกหลายเท่าตัว และอาจรุนแรงถึงขั้นนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบางชนิด
ผลกระทบโดยทั่วไปที่ชัดเจนมากคือการทำลายโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตในทะเลหลายชนิด เช่น หอย กุ้ง เม่นทะเล ปะการัง และแพลงก์ตอน เนื่องจากโครงสร้างร่างกายสัตว์ทะเลเหล่านี้ก่อตัวจากแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งละลายได้ง่ายในน้ำที่มีความเป็นกรดสูง
เมื่อน้ำทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น แร่ธาตุที่สำคัญต่อการสร้างเปลือกและโครงสร้างภายนอกของสัตว์ทะเลหลายชนิดก็ลดลงเช่นเดียวกัน ปรากฏการณ์ทะเลกรดจึงทำให้สัตว์ทะเลหลากหลายสายพันธุ์ไม่ว่าจะเป็น หอย กุ้ง เม่นทะเล หรือแม้แต่ปะการัง เผชิญความยากลำบากในการสร้างและบำรุงรักษาเปลือกและโครงสร้างแข็งภายนอกของพวกมัน
หอยหลายชนิด เช่น หอยนางรมและหอยแมลงภู่ มีเปลือกที่บางลงและอ่อนแอลง ทำให้พวกมันตายได้ง่ายขึ้น จนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ไม่เพียงเท่านั้น ความเป็นกรดของน้ำทะเลยังทำให้สัตว์ทะเลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น หายใจลำบาก สับสนในการหาอาหาร หรือไวต่อเสียงมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการสื่อสารและการดำรงชีวิตของพวกมัน
และเมื่อสิ่งมีชีวิตในระดับล่าง เช่น แพลงก์ตอนและสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ได้รับผลร้ายจากภาวะทะเลเป็นกรด ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในระดับที่สูงขึ้นไปตามห่วงโซ่อาหารด้วยเช่นกัน เช่น ปลา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศทางทะเลอย่างรุนแรง จนเกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ตัวอย่างที่พบเห็นได้ทั่วไปก็เช่น การฟอกขาวของปะการัง ภาวะทะเลเป็นกรดร่วมกับอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ปะการังฟอกขาวและตายเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศแนวปะการังซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล และส่งผลต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง
สรุปได้ว่า ภาวะทะเลเป็นกรดมีผลกระทบทั้งต่อภาคการประมง การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเล จนอาจทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากทะเลเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของมนุษย์
อาจจะช้าเกินการณ์
ถึงจะมีความพยายามรณรงค์หาทางป้องกันและแก้ไขภาวะทะเลเป็นกรด ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อนุรักษ์และฟื้นฟูแนวปะการัง รวมถึงทำการวิจัยเพื่อหาแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาภาวะทะเลเป็นกรด และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดผลกระทบ แต่บางทีตอนนี้อาจจะสายไปแล้วก็ได้
บอริส ซักชเวสกี หนึ่งในผู้เขียนหลักของรายงานฉบับนี้กล่าวว่า “เมื่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น ก๊าซจะละลายในน้ำทะเลมากขึ้น ทำให้มหาสมุทรเป็นกรดมากขึ้น แม้จะมีการลดการปล่อยมลพิษอย่างรวดเร็ว แต่ภาวะความเป็นกรดบางส่วนอาจเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาแล้ว และระบบมหาสมุทรต้องใช้เวลาในการตอบสนอง ดังนั้น ภาวะความเป็นกรดของมหาสมุทรอาจจะทะลุขีดจำกัดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า”
แม้จะน่าเศร้าที่เหล่านักวิชาการระบุว่า การทะลุขีดจำกัดในครั้งนี้อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่ร้ายกาจไปเรียบร้อยแล้ว แต่เราคงได้แต่หวังว่ามันจะยังไม่รุนแรงจนถึงขั้นที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ และคงต้องฝากความเชื่อมั่นไว้กับสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลว่า มันจะสามารถปรับตัวหรือวิวัฒน์จนมีชีวิตรอดภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เหมือนที่พวกมันเคยผ่านพ้นประสบการณ์ยากลำบากมาได้หลายครั้งตลอดเวลานับแสนนับล้านปีในอดีต
…….
PIK กล่าวว่า ได้พัฒนาชุดระดับอันตรายของดาวเคราะห์ทั้งเก้าประการนี้ขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้คนตระหนักว่าเราได้มาใกล้แค่ไหน ที่จะผลักดันระบบธรรมชาติบางอย่างของโลกเกินจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับได้
“จุดพลิกผันเหล่านี้ … หากถูกข้ามไป จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ และเป็นหายนะสำหรับประชากรหลายพันล้านคน รวมทั้งคนรุ่นต่อๆ ไปบนโลก” สถาบันกล่าว
……
ข้อมูลอ้างอิง: https://www.ehn.org/human-activity-pushes-earth-s-life-support-systems-past-critical-limits-2669263073.html
https://www.theguardian.com/environment/2024/sep/23/earth-breach-planetary-boundaries-health-check-oceans
https://tribune.com.pk/story/2498354/ocean-acidification-near-critical-threshold-earth-approaching-seventh-planetary-boundary-report
https://www.stockholmresilience.org/research/planetary-boundaries.html
https://www.dailyclimate.org/human-activity-pushes-earth-s-life-support-systems-past-critical-limits-2669269303.html