รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

งานแต่งงานของอภิมหาเศรษฐีครอบครัว “อัมบานี” (Ambani) อนันต์ อัมบานี กับรัดดิกา เมอร์ชานต์ ที่มาภาพ : https://edition.cnn.com/2024/07/12/style/anant-ambani-radhika-merchant-wedding-mumbai-intl-hnk/index.html

งานแต่งงานยิ่งใหญ่ตระการตาของโลก จัดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในอินเดีย ที่ทำให้คนทั่วโลกเห็นถึงอำนาจเงินของอภิมหาเศรษฐีครอบครัว “อัมบานี” (Ambani) อนันต์ อัมบานี บุตรชายคนเล็กของมูเกช อัมบานี เจ้าของกลุ่มอุตสาหกรรม Reliance Industries มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของอินเดีย แต่งงานกับรัดดิกา เมอร์ชานต์ บุตรสาวของครอบครัวเจ้าของอุตสาหกรรมยาใหญ่สุด ค่าใช้จ่ายการจัดงานแต่งงานครั้งนี้คาดกันว่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์

ความอลังการของงานแต่งงานตระกูลอัมบานี ถือเป็นคุณภาพตามมาตรฐานของฐานะเศรษฐกิจของตระกูลนี้ แต่ความอลังการแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในอินเดีย ผู้จัดการกองทุนและนักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า…

อินเดียเป็นประเทศที่สร้างมหาเศรษฐีและเศรษฐีได้รวดเร็วกว่าที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่มั่งคั่งมากขึ้น และการริเริ่มธุรกิจใหม่ก็เป็นเรื่องง่าย

ทุกเดือน เกิด“มหาราชาใหม่”หนึ่งคน

Himanshu Kohli ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน Client Associates กล่าวกับ The Wall Street Journal ว่า ทุกวันนี้ ในอินเดียจะเกิด “มหาราชาใหม่” หรือมหาเศรษฐีใหม่ 1 รายในทุกๆ เดือน และในทุก 30 นาทีจะเกิดเศรษฐีใหม่ 1 ราย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่มูเกช อัมบานี ติดอันดับมหาเศรษฐีของนิตยสาร Forbes อินเดียมีมหาเศรษฐี 10 คน ทุกวันนี้มีกว่า 200 คน มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกัน 950 พันล้านดอลลาร์ อินเดียมีมหาเศรษฐีมากอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนกับสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐีมี 850,000 คน ขณะที่รายได้ต่อคนเทียบ GDP ของอินเดียอยู่ที่ 2,500 ดอลลาร์

บรรดามหาราชาสมัยใหม่เหล่านี้บริหารจัดการเศรษฐกิจอินเดีย บางคนเริ่มใช้เงินในทางที่จะแสดงฐานะของตัวเองออกมา ถือเป็นเรื่องที่แตกต่างอย่างมากจากความคิดแบบเก่าๆ ของอินเดีย ที่ครั้งหนึ่งเคยคิดว่า หนทางสู่ความสำเร็จมาจากการประหยัดอดออม

Kavil Ramachandran อาจารย์ Indian School of Business บอกกับ Wall Street Journal ว่า “สิ่งสำคัญก็คือว่า มหาราชาในอดีต มีดินแดน ที่ดิน และอำนาจการควบคุม ที่เป็นของตัวเอง แต่สำหรับมหาราชาใหม่ คุณต้องบอกชาวโลกว่าคุณคือมหาราชา สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยแถลงการณ์ต่อสาธารณะที่แสดงออกในแบบนี้เท่านั้น”

หากไม่นับโปรแกรมการล่องเรือในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน การจัดงานแต่งงานของตระกูลอัมบานีครั้งนี้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที ที่ขอร้องให้คนอินเดียที่ร่ำรวยช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยการเลือกอินเดียเป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน แทนสถานที่จัดงานในต่างประเทศ

เมื่อปี 2023 Saurabh Mukherjea ผู้ก่อตั้ง Marcellus Investment Managers เรียกครอบครัวที่มั่งคั่งของอินเดียที่มีมากขึ้นว่าเป็น “ชนชั้นปลาหมึกใหม่” (new octopus class) ที่ดูดความมั่งคั่งจากการลงทุนต่างๆ และมีความสัมพันธ์กับชนชั้นการเมืองอินเดีย บริษัทที่ได้กำไรมหาศาลคือ Reliance Industries, Tata Group ที่ทำกำไรจากธุรกิจทุกอย่าง ตั้งแต่โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ไปจนถึงธุรกิจค้าปลีก ในเวลาเดียวกัน ธุรกิจขนาดเล็กหลายพันรายขาดทุน ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ทำให้เกิดสภาพ “เศรษฐกิจ 2 ราง”

นักวิเคราะห์มองว่า สภาพของอินเดียทุกวันนี้ เหมือนอเมริกาในช่วง 1920 หรือ 100 ปีมาแล้ว ที่ตระกูลต่างๆ สร้างความมั่งคั่ง เช่น J. P. Morgan, Carnegie, Rockefeller โดยการครอบงำอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การสำรวจน้ำมัน รถไฟ และถนนไฮเวย์ ที่ช่วยเศรษฐกิจให้เติบโต ในอินเดีย อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และเครือข่ายการเชื่อมต่อของสายการบิน ส่งผลต่อเศรษฐกิจในแบบเดียวกัน

จากการสำรวจของ Forbes ในปี 2024 มูเกช อัมบานี เจ้าของ Reliance Industries มีทรัพย์สิน 116 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก 80 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 ในแง่นี้ การใช้จ่ายเงินในงานแต่งงาน แม้จะหลายร้อยล้านดอลลาร์ ก็มองได้ว่าเป็นการใช้เงินอย่างประหยัด เพราะพวกอัมบานีสามารถหาคืนมาได้ภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือน

ที่มาภาพ : wikipedia.org

เหลื่อมล้ำรุนแรงกว่ายุคอังกฤษปกครอง

รายงานล่าสุดชื่อ The Rise of the Billionaire Raj ของ World Inequality Lab เขียนถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินในอินเดียว่า ยุคทองของมหาเศรษฐีใหม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในอินเดียที่รุนแรงที่สุดในโลก โดยช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนมีมาก จนความเหลื่อมล้ำในสมัยอาณานิคมอังกฤษยังจะมีความเท่าเทียมมากกว่า

Hurun Research Institute เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ อินเดียมีมหาเศรษฐี 271 คน ในปี 2023 มีเพิ่มขึ้น 94 คน ทรัพย์สินรวมของมหาเศรษฐีอินเดียมีรวมกัน 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้มูเกช อัมบานี และมหาเศรษฐีอื่นของอินเดีย จัดอยู่ในกลุ่มมหาเศรษฐีที่รวยสุดโลก อย่างเช่น เจฟฟ์ เบโซส จาก Amazon และอีลอน มัสก์

รายงานของ World Inequality Lab กล่าวว่า ในปี 1922 การปกครองอาณานิคมของอังกฤษออกกฎหมายภาษีรายได้ (income tax act) เป็นครั้งแรกในอินเดีย สัดส่วนคนมั่งคั่ง 1% ครอบครองรายได้ประชาชาติ (national income) 13% ต่อมาเพิ่มเป็นกว่า 20% ในช่วงสงคราม ลดมาเหลือ 13% เมื่ออินเดียได้เอกราชในปี 1947 แต่ในปัจจุบันเมื่อปี 2022 คน 1% ครองสัดส่วนรายได้ประชาชาติถึง 22.6% ส่วนความมั่งคั่งของประเทศ คน 1% ครอบครองถึง 40.1% ในปี 2023

รายงานนี้อาศัยการค้นคว้าหาหลักฐานว่า กลุ่มคนมั่งคั่ง 1% ครอบครองรายได้และความมั่งคั่งทั้งหมดของอินเดียจำนวนเท่าไหร่ รายได้คือผลตอบแทน ดอกเบี้ยจากเงินฝาก จากการลงทุนและแหล่งอื่นๆ ส่วนความมั่งคั่งหมายถึงมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมด ที่ตัวบุคคลหรือกลุ่มคนเป็นเจ้าของ

ผู้เขียนรายงานของ World Inequality Lab กล่าวว่า “การปกครองสมัยมหาเศรษฐี (Billionaire Raj) ที่นำโดยนายทุนสมัยใหม่ของอินเดีย มีความเหลื่อมล้ำมากกว่าการปกครองสมัยอังกฤษ (British Raj) ที่นำโดยกองกำลังอาณานิคม” ความเหลื่อมล้ำนี้ขยายตัวมากขึ้น นับจากที่มีกระแสโลกาภิวัตน์ในปี 1991 เป็นต้นมา

สลัมดาราวี มุมไบ ที่มาภาพ : wikipedia.org

การวิจารณ์ดังกล่าวเป็นการพูดแบบตรงๆ แต่มีพลัง เมื่อพิจารณาว่าอินเดียกำลังมีเศรษฐกิจที่เติบโต 8% และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 อินเดียจะขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก ล้ำหน้าญี่ปุ่น และปี 2027 มาอยู่อันดับ 3 แซงหน้าเยอรมัน

รายงานเสนอให้อินเดียปรับปรุงระบบเก็บภาษี โดยนำเอาเรื่องรายได้และทรัพย์สินมาพิจารณา เช่น การใช้ระบบภาษี super tax หรือการเก็บภาษีรายได้และทรัพย์สินในส่วนที่เพิ่มขึ้น นอกจาก super tax จะเป็นเครื่องมือต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำแล้ว การเก็บภาษี super tax อัตรา 2% กับครอบครัวที่มั่งคั่งที่สุด 167 ครอบครัว จะทำให้มีรายได้ 0.5% ของรายได้ประชาชาติ การนำเงินรายได้เข้ารัฐส่วนนี้มาใช้กับการลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข โภชนาการ และสุขอนามัย จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์

เอกสารประกอบ
Wedding Puts Focus on India’s Ultrarich, The Wall Street Journal, July 13-14, 2024.
The Rise of the Billionaire Raj, March 2024, World Inequality Lab.