เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์
หลายปีก่อนผมได้รับชักชวนจากมูลนิธิแพธทูเฮลท์ไปเขียนแบบเรียนเพศให้กระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ได้เจอกับคณะทำงานน่าสนใจจำนวนมาก เราตั้งใจพัฒนาแบบเรียนร่างแรกอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม คำตอบที่ได้รับจากคนในฝั่งของกระทรวงในเวลานั้นคือ…ไม่เห็นด้วยโดยสิ้นเชิง พร้อมเหตุผลว่า “พี่เป็นอนุรักษนิยม”
อันที่จริง โลกมีต้นแบบของอนุรักษนิยมที่มีเหตุผลจำนวนมาก แต่สังคมไทยนั้นเส้นแบ่งระหว่างอนุรักษนิยมและไทยนิยมอาจจะชวนให้เข้าใจผิด
หลังขอตัวลาออกจากโปรเจกต์ ผมก็ไม่ได้ติดตามข่าวความคืบหน้าใดอีกเลย กระทั่งหลายปีต่อมา มีโอกาสได้ทำงานเรื่อง positive parenting จึงนึกอยากเอาตำราเพศศึกษาไทยมาอ่านใหม่ เพราะอยากรู้ว่า ตลอดชีวิตมัธยม 6 ปีของเด็กไทยต้องเจอกับอะไรบ้าง ในบทความนี้จึงจะพาไปสำรวจหนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐานสุขศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 โดยเป็นคู่มือครูในตัวด้วย ตั้งแต่ระดับ ม.1-ม.6 ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีในเว็บไซต์ของอักษรเจริญทัศน์
ผมจะขอแบ่งไฮไลต์เนื้อหาที่น่าสนใจตามลำดับชั้นพร้อมความเห็นสั้นๆ ดังนี้
สำหรับนักเรียน ระดับ ม.1 หนังสือคู่มือดังกล่าวหนาถึง 225 หน้า โดยใน 1 ปีการศึกษา นักเรียน ม.1 จะได้เรียนวิชานี้รวมแล้ว 40 ชั่วโมง ซึ่งกำหนดให้เรียนเรื่องพัฒนาการทางเพศ 4 ชั่วโมง และการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศอีก 4 ชั่วโมง หลักๆ ใน ม.1 หนังสือเรียนเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น เสียงแตกหนุ่ม เสียงแหลม หนวดเครา ขนขึ้น ฝันเปียก ประจำเดือน หน้าอก กลิ่นตัว รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความหลากหลายทางเพศ และมีภาพอวัยวะสืบพันธุ์ชายหญิงประกอบ มีการอธิบายถึงเพศวิถี รวมถึงการผ่าตัดแปลงเพศ ความพึงพอใจทางเพศ และสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ในบทเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ก็ให้ข้อมูลค่อนข้างครบถ้วนสำหรับช่วงวัย เช่น ลักษณะพฤติกรรมที่ถือว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งที่ควรรู้ การขอความช่วยเหลือ เกร็ดความรู้ การป้องกันตัว รวมถึงการใช้สเปรย์พริกไทย
พอมาในระดับ ม.2 มีการเรียนในหัวข้อเพศกับวัยรุ่น และความเท่าเทียมทางเพศ รวมถึงมีเรื่องสุขภาพจิตด้วย ในหน่วยเพศกับวัยรุ่น มีการระบุคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนไว้ 4 ข้อ โดย 2 ใน 4 คือ “อยู่อย่างพอเพียง” และ “รักความเป็นไทย” มีการพูดถึงเรื่องการปรับตัว การเป็นประจำเดือน และความเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับที่เรียนแล้วในชั้น ม.1
ในชั้นปีนี้ มีบทย่อยเรื่องเจตคติทางเพศ เช่น การเคารพความเท่าเทียมระหว่างเพศ “การแต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย” “ปฏิบัติตนตามคำสอนของศาสนา” ซึ่งในคู่มือครูมีกิจกรรมให้ครูถามคำถามนักเรียน ตัวอย่างคำถาม เช่น “เพราะเหตุใดความเชื่อเรื่องเจตคติทางเพศในปัจจุบันของสังคมไทยถึงเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต” ซึ่งแนวทางคำตอบในคู่มือครู ก็คือ “เพราะประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตกและสื่อเทคโนโลยีฯ” รวมทั้งมีการพูดถึง “ความลื่นไหลทางเพศ” และอิทธิพลของสื่อ ในขณะเดียวกันก็มีคำถามในพาร์ต “ข้อสอบเน้นการคิด” ได้แก่
“ข้อใดไม่ใช่วัฒนธรรมไทยเกี่ยวกับเรื่องเพศ”
-
1. การดูแลบ้านเป็นหน้าที่ของสามีและภรรยา
2. ผู้ชายที่แต่งงานแล้วต้องซื่อสัตย์ต่อภรรยา
3. เป็นหญิงต้องรักนวลสงวนตัว
4. สามีเป็นช้างเท้าหน้า ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง
โดยแนวคำตอบตามคู่มือได้แก่ “สำหรับเรื่องเพศในวัฒนธรรมไทยนั้นจะเน้นเรื่องความถูกต้องดีงาม” คำตอบที่เฉลยจึงได้แก่ข้อที่ 1
นอกจากนี้ในหัวข้อ “นักเรียนควรรู้” ยังมีระบุว่า โทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อเจตคติทางเพศของวัยรุ่นมากที่สุด จึงได้มี กบว. คอยควบคุมให้แสดงออกมาในทางที่เหมาะที่ควร และในหัวข้อเรื่อง “กระตุ้นความสนใจ” ยังมีการแนะนำให้ครูเปิดคลิปวิดีโอเกี่ยวกับอันตรายจากการทำแท้ง
ในปีนี้ นักเรียนจะได้เรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ ในหมวด “ข้อสอบเน้นการคิด” ในหัวข้อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ แนะนำให้ครูถามนักเรียนว่า
“บุคคลใดสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองจากปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเมื่อเพื่อนชายขอมีเพศสัมพันธ์ด้วยอย่างถูกต้องที่สุด”
-
1. ออย : เรายังไม่พร้อม
2. แอน : เอาไว้วันหลังได้ไหม
3. กุ้ง : รอให้เราแต่งงานกันก่อน
4. ดาว : ไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจก็เลิกกันไปเลย
โดยคำตอบได้แก่ กุ้ง เนื่องจากเป็นการแสดงเหตุผลให้เพื่อนชายรับรู้และยอมรับโดยไม่เสียสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ซึ่งสำหรับผมถือเป็นคำตอบที่สะท้อนวัฒนธรรมไทยนิยม เรื่องการไม่พูดตรงๆ ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ในบทนี้ ยังมีการพูดเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ และทักษะการปฏิเสธ
พอขึ้น ม.3 บทที่เกี่ยวกับเพศ เหลือแค่อนามัยเจริญพันธุ์และการตั้งครรภ์ ซึ่งมีทั้งหมด 11 จาก 155 หน้า และหนักไปทางการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิดแบบต่างๆ การเตรียมตัวขณะตั้งครรภ์ ที่เป็นประโยชน์กับผู้ท้องในวัยเรียน
ใน ม.4 มีเรียนเรื่องพฤติกรรมทางเพศและการดำเนินชีวิต รวมทั้งบทเรียนเรื่องเพศวิถี พหุวัฒนธรรม ความเชื่อ และค่านิยม นอกเหนือจากการเรียนเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ซ้ำเป็นปีที่ 4 แล้ว ในปีนี้นักเรียนไทยจะได้เรียนเรื่อง “การจัดการอารมณ์ทางเพศอย่างเหมาะสม” ดังข้อสอบเน้นการคิดท้ายบท
“ข้อใดไม่ใช่วิธีการจัดการอารมณ์ทางเพศอย่างถูกต้องและเหมาะสม”
-
1. สูดดมกลิ่นน้ำหอมเพศตรงข้าม
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ตามลำพังกับเพศตรงข้าม
3. ดูภาพยนตร์สารคดีที่น่าสนใจเพื่อคลายเครียด
4. หลีกเลี่ยงการไปเที่ยวกลางคืน สถานบันเทิงต่างๆ
ส่วนคำตอบในคู่มือครู ได้แก่ ข้อ 1
ในชั้นเรียนนี้เริ่มมีการพูดเรื่องกฎหมายอาญา เช่น การพรากผู้เยาว์ การเผยแพร่คลิปลามก
ต่อมาในระดับ ม.5 มีเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องเพศและครอบครัวสั้นๆ แฝงอยู่ในบททักษะในการป้องกัน ลดความขัดแย้ง โดยในหัวข้อย่อยเรื่อง สภาพปัญหาและสาเหตุความขัดแย้งเรื่องเพศ มีการระบุว่า “ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางเพศและความขัดแย้งเรื่องเพศ จะต้องปรับมุมมองในเรื่องเพศใหม่ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น ควรรักนวลสงวนตัว การวางตัวต่อกันอย่างเหมาะสม ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร”
ในหมวดข้อสอบเน้นการคิด “ข้อใดไม่ใช่ลักษณะปัญหาทางเพศ”
-
1. การปฏิเสธเพศตนเอง
2. ความหลากหลายทางเพศ
3. ความภูมิใจในเพศตนเอง
4. ความสับสนในเพศตนเอง
คำตอบที่เฉลยได้แก่ ข้อ 3
รวมทั้งยังเป็นอีกปีที่นักเรียนต้องเรียนเรื่องฮอร์โมนเพศ
ในระดับ ม.6 ปีสุดท้าย คู่มือดังกล่าวมีทั้งหมด 98 หน้า แบ่งเป็น 5 หน่วย หน่วยที่เกี่ยวข้องกับเพศศึกษามีเพียงหน่วยเดียว ได้แก่ หน่วยระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ และระบบต่อมไร้ท่อ และเฉพาะส่วนระบบสืบพันธุ์ มีความยาวเพียง 5 หน้า โดยทั้งหมดเป็นเรื่องระบบทางกายภาพ ซึ่งได้เรียนพื้นฐานไปแล้วตั้งแต่ ม.1 มีเพิ่มเรื่องมะเร็งปากมดลูกขึ้นมา 1 หน้า
ในภาพรวมจะเห็นว่า แบบเรียนเพศไทยมุ่งเน้นไปที่วิธีคิดทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น อนามัยเจริญพันธุ์ ระบบสืบพันธุ์ และวิธีคิดทางศาสนาไทย เช่น การรักนวลสงวนตัว อิทธิพลจากสื่อตะวันตก การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ โดยแทบจะละเลยวิธีคิดทางวัฒนธรรมและการจัดการเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหา และเมื่อมองในภาพรวม ก็น่าเสียดายที่มีแต่วิชาสายวิทย์-คณิต ซึ่งมีทั้งทุนจำนวนมาก ทุนความเป็นเลิศ ทุนส่งตั้งแต่มัธยมจนเป็นด็อกเตอร์ มีคนกลับมาทำคุณประโยชน์ให้ประเทศมากมาย ในขณะที่วิชาสายสังคม-ศิลป์ กลายเป็นเครื่องมือให้รัฐเตรียมความพร้อมให้เด็กกลายเป็นคนไทยนิยม นอกเหนือจากข้อเสนอให้ประเทศไทยชำระแบบเรียนวิชาสายสังคมทั้งประวัติศาสตร์ เพศศึกษา สังคม สุขศึกษา ฯลฯ ใหม่ทั้งหมดแล้ว สำหรับวิชาเพศศึกษาเอง ก็ควรมีการออกแบบการเรียนรู้แบบ holistic หรือรอบด้าน ทั้งในมิติสุขภาวะทางเพศ สาธารณสุข วัฒนธรรม วิธีคิด ทักษะชีวิต แรงงาน ตลอดจนสุนทรียะ
การออกแบบตำราเรียนเพศในปัจจุบันยังคงใช้มาตรฐานความเป็นไทยเป็นศูนย์กลาง มากกว่ายึดเอาวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วของผู้เรียนเป็นฐานคิด ทำให้เป็นการมองผู้เรียน (ผ่านผู้สอน) ในฐานะเด็กที่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์อย่างขาดสติ มากกว่ามนุษย์คนหนึ่งที่มีโอกาสมีประสบการณ์ทางเพศในวัยเรียน แนวทางการเรียนรู้จึงโฟกัสไปที่การกำหนดสิ่งที่ (เชื่อว่า) ถูกต้องไว้ให้เดินตาม มากกว่าสนับสนุนและให้คำแนะนำเมื่อเกิดปัญหา เป็นการมองเด็กเป็นปัญหา มากกว่ามองปัญหาที่คนในช่วงวัยนี้กำลังเผชิญอยู่
สอดคล้องกับภาพใหญ่ของสถานการณ์ประเทศไทย ซึ่งทุกครั้งที่มีรัฐประหาร กฎระเบียบต่างๆ ก็จะเข้ามาจู้จี้กับวัยรุ่นมากขึ้น เดิมกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติมีจุดประสงค์เพื่อความปลอดภัย เช่น การตีกัน กระทั่งรัฐประหารปี 2557 หนึ่งปีต่อมา มี พ.ร.บ.หอพัก บังคับแยกเพศ ทั้งที่นักศึกษาส่วนใหญ่อายุเกิน 20 ปีแล้ว มีสิทธิกำหนดที่อยู่อาศัยด้วยตัวเอง และไม่กี่ปีก่อนในยุครัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงแก้ไขเพิ่มเติม ที่เพิ่มท่อน “ห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” เข้าไป ซึ่งตีความได้กว้างมาก กล่าวโดยง่ายคือ หากนักศึกษาจับกลุ่มเคลื่อนไหวบางอย่าง (เช่น กรณีนักเรียนโรงเรียนเสิงสางประท้วงโรงเรียนโกงค่า sms หรือโรงเรียนแห่งหนึ่งใน กทม. หลายปีก่อน ก่อม็อบปิดห้อง ผอ. ประท้วงเรื่องการตัดผม) สถานศึกษาก็อาจตีความได้แล้วว่า ขัดต่อศีลธรรมอันดี จากจุดประสงค์เพื่อความปลอดภัยทางกายภาพ กลายเป็นเพื่อความปลอดภัยทางความคิด และหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ผ่านอุตสาหกรรมศีลธรรมอันดีงาม
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็จะพบว่า แบบเรียนเพศเต็มไปด้วยเรื่องที่เรียนซ้ำๆ เหมือนพฤติกรรมคนเฒ่าคนแก่สั่งสอนลูกหลานด้วยประโยคที่เพิ่งพูดไปไม่นานก่อนหน้านี้ เป็นการเรียนรู้บนพื้นฐานของความกังวลและมีความกลัวเข้าครอบงำ เช่น ในบททักษะการปฏิเสธ ในแบบเรียนไม่ได้มีการพูดเรื่อง consent (ความยินยอม) อย่างตรงไปตรงมา แม้ว่า วัยเด็กและวัยรุ่นจะต้องเผชิญกับความสับสนของการปฏิเสธ (และถูกปฏิเสธ) หลายต่อหลายครั้งก็ตาม
3-4 ปีก่อน ผมมีโอกาสไปเดินดูหนังสือเรียนเพศวัยรุ่นในเมือง Rennes ฝรั่งเศส นอกจากมีพูดเรื่องสิทธิในการทำแท้งแล้ว ยังมีการพูดถึงการกดขี่ทางเพศในศาสนาอิสลามในหลายพื้นที่ และการทรีซัมด้วย ในขณะที่เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาฯ ไทยบางคนที่ผมเจอในขณะนั้นไม่อนุญาตให้พูดเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ เพราะกลัวเด็กแห่ไปทำแท้ง แม้จะทำได้ตามกฎหมายแล้วก็ตาม
เรารู้ดีว่า โลกนั้นเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่เราคิด แต่การศึกษาไทยไม่คิดเช่นนั้น ตำราเรียนเกี่ยวกับเพศจำนวนมากนอกจากเชื่อว่าโลกหมุนรอบตัวเองแล้ว ยังอาจเชื่อว่า ประเทศไทยนั้นไม่ได้หมุนไปตามความเร็วโลกด้วย สำหรับผม เด็กๆ ควรเรียนรู้เรื่องเพศด้วยความเข้าใจไม่ใช่ความกลัว ด้วยคำแนะนำไม่ใช่ข้อห้าม และด้วยความอยากเรียนรู้ไม่ใช่เอาแต่หลีกเลี่ยง
แม้แบบเรียนเพศ (รวมถึงแบบเรียนด้านสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ) จะไม่ได้มีผลใดๆ โดยตรงกับเด็กไทยที่รู้เท่าทันสื่อ (การสอน) หมดแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในทางอ้อม เด็กๆ ก็ยังถูกบังคับให้ต้องมาเสียเวลาชีวิต (และเสียเงินภาษี ในกรณีของประชาชนทั่วไป) กับสิ่งเหล่านี้โดยไม่จำเป็น
นอกจากประเด็นทั่วไป เช่น consent, gender fluidity, ความหลากหลายทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์แล้ว แบบเรียนเพศศึกษา มัธยมไทยควรพูดถึงความรับผิดชอบในความสัมพันธ์แบบไม่พันธนาการ, การคุมกำเนิดในเพศสัมพันธ์แบบสามคนเป็นต้นไป, ความพึงพอใจในกิจกรรมทางเพศสัมพันธ์ที่ยุติธรรมต่อทุกฝ่าย, sensate focus, การจัดการความจริงซึ่งหน้า เมื่อไม่ตรงกับความคาดหวัง เช่น จะทำอย่างไร เมื่อพบว่าอวัยวะ รสนิยม สมรรถภาพ บางอย่างของอีกฝ่ายไม่เป็นไปตามคาดหวัง, เพศสัมพันธ์ในมิติกฎหมาย เช่น การยินยอมให้อีกฝ่ายใช้ความรุนแรงหรือมัดแขนขาได้ในระดับหนึ่งขณะมีเซ็กซ์ หรือการมีเซ็กซ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ง่าย เช่น การใช้สารกระตุ้น หรือเคมีบางอย่าง, การยุติความสัมพันธ์ เช่น ทำอย่างไรเมื่อเลิกกับแฟน, การจัดการอารมณ์เมื่ออกหัก รักไม่สมหวัง, ความเสี่ยงและการจัดการต่อการละเมิด ก่อความเดือดร้อนรำคาญ หลังความสัมพันธ์สิ้นสุดลง, เมื่อความสัมพันธ์เรื้อรังหลังเลิกรา, ว่าที่ แม่เลี้ยงเดี่ยว, พ่อเลี้ยงเดี่ยว, การยุติการตั้งครรภ์ (ในแง่ความเข้าใจ ความปลอดภัย และสภาวะอารมณ์จิตใจ), healthy relationship
นอกเหนือสิ่งอื่นใด แบบเรียนไทยควรเป็นส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมที่คนสามารถคุยเรื่องเพศกันได้ วัฒนธรรมการคุยเรื่องเซ็กซ์อย่างมีสติ สุภาพ และไม่ตลก เป็นเรื่องจำเป็นในการเรียนการสอนเพศศึกษา