
ทีมเก๋ากี่ : How are you ออนไลน์แอปพลิเคชันแพลตฟอร์มที่จะเป็นเหมือนเพื่อนที่พร้อมจะรับฟัง ให้กำลังใจ เเละเป็นที่พักใจสําหรับทุกคน (รางวัลชนะเลิศ)
หนึ่งในภารกิจเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนของธนาคารกสิกรไทย คือการลดความเหลื่อมล้ำ ส่งผ่านการศึกษานอกห้องเรียนแก่เด็กและเยาวชนในสังคมไทย
จากแนวคิดการส่งมอบโอกาสผ่านการศึกษานอกห้องเรียน สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของธนาคารกสิกรไทย ในฐานะสถาบันการเงิน ที่ดำเนินโครงการเพื่อสังคมโดยใช้ศักยภาพขององค์กร มุ่งเน้นการให้ความรู้ทางการเงิน การลงทุน การทำธุรกิจ โดยมีโครงการที่สำคัญคือ ‘เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ และโครงการ ‘AFTERKLASS’
ในปี 2565 ธนาคารจัดตั้งมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา และมีโครงการแรกคือ เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ โดยมุ่งเน้นไปที่การสอนทักษะทางธุรกิจให้กับเยาวชน เริ่มที่จังหวัดน่านก่อน ขณะที่โครงการ AFTERKLASS เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 ในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ความรู้ทางการเงินแก่เยาวชนแห่งแรกของประเทศไทย อีกทั้งมีโครงการ AFTERKLASS Business KAMP สำหรับประกวดแนวคิดธุรกิจที่สร้างอิมแพคต่อสังคม
ในเดือนกันยายนปี 2566 ธนาคารจึงผสานวัตถุประสงค์ร่วมด้านการให้โอกาสเสิรมทักษะด้านการเงินและผู้ประกอบการให้กับเยาวชนและสร้างด้านความยั่งยืนไว้ด้วยกัน และพัฒนาโครงการ AFTERKLASS Business KAMP โดยร่วมมือกับมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา พร้อมกับความท้าทายให้เยาวชนภายใต้ธีม “Innovation for a Sustainable Society Hackathon 2023” โดยมีนักเรียนมัธยมทั่วประเทศรวมทีมกันมาสมัครถึง 76 ทีม หรือ 304 คน และทางโครงการได้คัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบ Incubation Boot Camp จำนวน 10 ทีม
ความพิเศษของปี 2566 คือ การร่วมกับมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา และโจทย์เรื่อง ‘ความยั่งยืน’ เพื่อลับคมวิธีคิดการทำธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ช่วยเหลือสังคมไปด้วย ตลอดจนสอดแทรกประเด็นด้านการสร้างความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจที่เยาวชนได้ลงสนามทำธุรกิจจริง
AFTERKLASS ระบบการศึกษาที่ลดความเหลื่อมล้ำ
นายรวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบูรณาการความยั่งยืนองค์การ ธนาคารกสิกรไทย เล่าว่า การทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้ ดังนั้นธนาคารได้ใส่เรื่องความยั่งยืนเข้าไปเป็นแนวคิดหลัก โดยเยาวชนต้องคิดและทำธุรกิจภายใต้ 3 โจทย์หลักคือ สุขภาพ (Health) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) และสิ่งแวดล้อม (Environment)
ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่เปิดรับสมัครจนถึงเดือนธันวาคม เป็นระยะเวลากว่า 5 เดือนที่เยาวชนต้องผ่านกระบวนการทดสอบต่างๆ ตั้งแต่การนำเสนอไอเดีย การคิดแผนธุรกิจ โมเดลรายได้ จุดแข็ง-จุดอ่อน คู่แข่ง ตลอดจนการทดลองตลาดจริง ดังนั้น ทีมที่ผ่านเข้ารอบ 6 ทีมสุดท้ายล้วนแต่เป็นไอเดียธุรกิจที่คำนึงถึงการแก้ปัญหาสังคม ดังนี้
-
(1) ทีมซักเสร็จฟู่ : Boney แอปพลิเคชันโกนิโอมิเตอร์สำหรับวัดระยะการเคลื่อนที่ของข้อต่อในรูปแบบภาษาไทย
(2) ทีมเก๋ากี่ : How are you แอปพลิเคชันเสมือนเพื่อนที่พร้อมที่จะรับฟัง ให้กำลังใจ เเละเป็นที่พักใจสําหรับทุกคน (รางวัลชนะเลิศ)
(3) ทีม AngsanaNew : RiverRanger เรือหุ่นยนต์เก็บขยะที่ลอยตามแม่น้ำลำคลอง (รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1)
(4) ทีมจรวดทางเรียบ : Heet รองเท้าให้ความอบอุ่นบรรเทาอาการหนาวข้อและขา สำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์
(5) ทีม Passinion : Smart Trash Point ถังขยะที่สนับสนุนการแยกขยะภายในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมี Feature สะสมแต้ม
(6) ทีม Flying Turtle : Track Point Sensor เซนเซอร์บนหมวกกันน็อคนิรภัย จูงใจผู้ขับขี่มอเตอร์ไซต์ให้ใส่หมวกกันน็อคมากขึ้น (รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2)
“พูดถึงการช่วยเหลือสังคม เด็กรุ่นใหม่มีแพชชันอยากทำอะไรเพื่อสังคมจริง กระทั่งเวลารับสมัครพนักงานก็เห็นแพชชันนี้…เราอยากทำให้เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะนอกจากจะสอนให้เยาวชนเป็นคนเก่งแล้ว เราอยากให้เป็นคนดี และช่วยเหลือสังคมด้วย” นายรวี กล่าว
ที่สำคัญคือแนวคิดที่ว่า ไม่ใช่ขายของ แต่ต้องเป็นการขายของที่แก้ปัญหาให้ลูกค้าและสังคมด้วย
นายรวี กล่าวถึงประโยชน์ที่เยาวชนจะได้รับว่า เด็กจะได้เรียนรู้วิธีคิดทางธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องไอเดียความยั่งยืน และประสบการณ์การทำงานจริง ตั้งแต่กระบวนการคิดไอเดียนวัตกรรมจากความต้องการของผู้ใช้ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของตลาดว่าน่าลงทุนหรือไม่ จนไปถึงการทำแผนธุรกิจเพื่อนำเสนอแบบ Startup Pitching ต่อหน้าคณะกรรมการเพื่อขอรับเงินทุนไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ โครงการ AFTERKLASS ปี 2566 นับเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้นำผลิตภัณฑ์ต้นแบบไปทดลองกับผู้ใช้จริง (MVP) โดยได้รับการสนับสนุนทุนเรียนรู้วิธีการพัฒนาไอเดียนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง พร้อมสร้างแผนธุรกิจเพื่อต่อยอดนวัตกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนจากมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา และจะได้รับสนับสนุนเงินรางวัลในโครงการ AFTERKLASS พร้อมวุฒิบัตรจากธนาคารกสิกรไทยและมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาอีกด้วย
บทเรียนวิชาธุรกิจ: เรียนรู้ความผิดพลาด-รับฟังผู้อื่น
ด่านอรหันต์ในมุมมองของเยาวชนคือ การนำเสนอไอเดียและแผนธุรกิจต่อหน้าคณะกรรมการ ทั้งคนภายในองค์กรและคนนอกองค์กรธนาคาร โดยหนึ่งในคณะกรรมการที่ร่วมตัดสินรอบสุดท้ายคือ นายปรัชญา โมรา ผู้ก่อตั้งเพจ “ไปให้ถึงร้อยล้าน” เพจธุรกิจที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน
นายปรัชญา มองว่า AFTERKLASS คือโครงการประกวดเวทีแรกๆ ที่ทำให้เยาวชนพูดถึงการทำธุรกิจและความยั่งยืน และเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของเยาวชนที่จะสอนให้เห็นความสำคัญของ ‘การรับฟัง’ เสียงจากลูกค้า สังคมและคณะกรรมการ
“เวทีนี้เปิดโอกาสให้เขารับฟัง และเห็นว่า ไม่ว่าปัญหาที่เขาคิดจะผิดหรือถูก แต่เขาได้รับฟัง และทำให้เขาคมยิ่งขึ้น น้องๆ ที่เริ่มทำธุรกิจก่อนจะมีโอกาสต่อยอดได้เร็ว เพราะเขาเห็นมุมมองที่มากกว่า”
มุมมองของนายปรัชญา สอดคล้องกับคณะกรรมการอย่าง ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้ร่วมก่อตั้ง ZTRUS มองว่า สิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ควรเรียนรู้คือ ‘การรับฟัง’
“ปัญหาความยั่งยืนคือ สังคมพาเราเดินไปทางที่ไม่ยั่งยืน แต่บอกให้ยั่งยืนมันก็ทำไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาลากเราไปทิศนั้น การจะเบรกต้องใช้พลังและวิธีคิด เด็กกลุ่มนี้เห็นว่าเราทำได้ถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ในภาพใหญ่ เป็นโอกาสที่เด็กได้มาคิด มันไม่ใช่การโวยวาย แต่เป็นการเฟรมมุมปัญหา มองเป้าหมายร่วมว่าจะ win-win ด้วยกันอย่างไร”
ดร.พณชิต เสริมว่า AFTERKLASS ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ความผิดพลาด และพาเด็กออกมาตั้งคำถามถึงปัญหาสังคมและวิธีการทำธุรกิจ
ดร.พณชิต ให้เหตุผลที่ทีมเก๋ากี่ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศว่า แอปพลิเคชัน How are you มองถึงการแก้ปัญหาให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้า ในฐานะเพื่อน-ชุมชนที่รับฟังปัญหา สร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคม และมีโอกาสจับต้องได้มากที่สุด
ส่วนทีม AngsanaNew ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ซึ่งพัฒนาเรือหุ่นยนต์เก็บขยะที่ลอยตามแม่น้ำลำคลอง ก็มีจุดเด่นเรื่องการรับฟัง และมองเห็น stakeholder ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ชุมชน ชาวบ้าน ธุรกิจ และภาครัฐ ทว่าทีม AngsanaNew อาจให้น้ำหนักกับเทคโนโลยีมากกว่า Pain Point ในสังคม
“ปัญหาอาจไม่ใช่ปัญหาเรือ แต่มันคือวิธีไหนก็ได้ที่เอาขยะออกจากคลองเร็วที่สุดด้วยต้นทุนต่ำสุด ปลอดภัยต่ำสุด เรือเป็นหนึ่งวิธี…เทคโนโลยีเป็นการสเกล ถ้าเราจับกลุ่มคนได้ เทคโนโลยีจะทำให้เราดูแลคนได้มากขึ้น ที่ไหนมีคน-ชุมชน ที่นั่นมีธุรกิจ ถ้าเราสร้างพื้นที่ให้ ธุรกิจจะตามมา”
ภายหลังการประกาศผล เยาวชนจากทีม AngsanaNew ให้สัมภาษณ์ว่า ทุกคนเรียนอยู่โรงเรียนประจำในพื้นที่บางขุนเทียนชายทะเล และเห็นปัญหาขยะในแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นขยะทิ้งชาวบ้านนำมาทิ้งหรือขยะที่ลอยมาตามน้ำ ทำให้น้ำเสียและส่งกลิ่นเหม็นจนเป็นปัญหาใหญ่ของคนในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็เก็บขยะโดยไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ทำให้ทุกคนในทีมเห็นตรงกันเรื่องการแก้ปัญหาให้สังคม
“พวกผมเรียนหลักสูตรวิศวะฯ เลยคิดจะทำหุ่นยนต์เก็บขยะในน้ำ ใช้เอไอช่วยเก็บ และเอาไอเดียเข้าโครงการ ผ่านมาจนถึงรอบสอบถามลูกค้า พอผมเอาไปเสนอ เขาบอกยังใช้ในแหล่งน้ำจริงไม่ได้ เพราะมีขนาดเล็กไป แถมเขาไม่มั่นใจ เรือไร้คนขับ เวลาเจอสถานการณ์เฉพาะหน้า มัน Error” ตัวแทนทีม AngsanaNew เล่าแนวคิด”
ตัวแทนทีม AngsanaNew กล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้คือคำพูดของกรรมการท่านหนึ่งที่ว่า “อย่าหลงเชื่อในไอเดียของตัวเองมากเกินไป เพราะเราต้องแก้ปัญหาให้ลูกค้า” โดยคำพูดดังกล่าวได้ไปกระตุกให้ฝึกความคิด การมองโลกที่กว้างขึ้น ที่สำคัญคือรู้แนวทางทำธุรกิจ-สตาร์ทอัพ และเรียนรู้ความผิดพลาดจากมุมมองนักธุรกิจตัวจริง
‘กสิกรไทย’ กับบทบาทธนาคารที่ยั่งยืน
เมื่อถามว่าธนาคารกสิกรไทยจะได้อะไรจากโครงการ AFTERKLASS Business KAMP นายรวี คาดหวังว่า หลังจบโครงการจะสามารถนำไอเดียจากโครงการไปต่อยอดและให้เยาวชนลงมือทำจริง โดยอาจใช้ความร่วมมือจากองค์กรในเครือ เช่น Beacon VC, Katalyst และ KBTG
นายรวี ให้ข้อมูลว่า AFTERKLASS ยังมีมิติเรื่องคลาสเรียนอีก 3+1 คลาส หรือที่ในแพลตฟอร์มใช้คำว่า Klass ประกอบด้วย
อีกทั้งในเว็บไซต์ยังมีระบบการเงินและธนาคาร ทดลองออมเงินและลงทุนผ่านกองทุนได้แบบไม่ยาก ตลอดจนมีมินิเกม และเกมตอบคำถามต่างๆ ที่สอดแทรกความรู้ให้กับเยาวชนอีกด้วย