รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://clb.org.hk/en/content/shanghai-traffic-police-target-delivery-workers-through-electronic-licence-plate-chip
หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2023 รายงานว่าการว่างงานในหมู่เยาวชนจีน กำลังกลายเป็นสถานการณ์
ที่ไม่น่ารื่นรมย์ต่อเศรษฐกิจจีน ประเด็นไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจจีน ไม่มีงานให้กับคนจีน จำนวนประชากรที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจจีน มีความต้องการคนงานมากขึ้น
แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้การสร้างงานที่ใช้ทักษะสูงและให้รายได้ตอบแทนที่ดี มีไม่มากพอกับการคาดหวังของบรรดานักศึกษาที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยออกสู่ตลาดแรงงาน ในปี 2023 นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยมีจำนวน 11.6 ล้านคน ขณะเดียวกันทางการจีนก็กล่าวว่า อุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการที่ค่าตอบแทนไม่สูงยังต้องการแรงงานมาก
ความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์
หนังสือ Invisible China เขียนถึงทรัพยากรมนุษย์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไว้ว่า ประเทศที่ยากจนในโลก แรงงานแทบทั้งหมด มีอาชีพแบบเดียวกันคือ อาชีพชาวนา เมื่อประเทศเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจสูงขึ้น ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการจ้างงานแต่ละระดับการพัฒนา จะมีความต้องการงานที่เฉพาะด้านลงไป ประเทศรายได้ต่ำ โดยเฉลี่ยคนงานจะมีงานแบบรายได้ต่ำ และประเทศรายได้ปานกลาง โดยเฉลี่ยคนงานจะมีงานแบบรายได้ปานกลาง
งานที่มีรายได้แตกต่างกัน จะต้องการพื้นฐานการศึกษาที่แตกต่างกัน อาชีพการเป็นชาวนาที่ดี ไม่จำเป็นต้องอาศัยการศึกษาเป็นทางการ รวมทั้งการเป็นแรงงานก่อสร้าง หรือคนงานในโรงงาน ก็ไม่ต้องการการศึกษาเป็นทางการมากมาย แต่พนักงานสำนัก งานช่างเทคนิคในโรงงานไฮเทค หรือผู้เชี่ยวชาญงานบริการที่ค่าแรงสูง ต้องมีการศึกษาเป็นทางการที่สูงด้วย
Invisible China บอกว่า ประเด็นก็คือประเทศจะไม่สามารถรักษาฐานะการเป็นประเทศรายได้สูง หากแรงงานไม่มีการศึกษาพอ ที่จะเข้าไปทำงานที่ให้รายได้สูง ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ล้วนเอนเอียงเป็นคุณประโยชน์ให้กับคนที่มีทักษะประเทศรายได้สูงจึงต้องการแรงงานที่มีการศึกษาสูง ในสหรัฐฯ อังกฤษ หรือญี่ปุ่นมีเหลืองานน้อยลง สำหรับแรงงานที่ไม่จบการศึกษามัธยมปลาย หรือที่สูงกว่านี้
เพราะเหตุนี้ หากจีนอยากจะดำเนินการเหมือนเป็นประเทศรายได้สูงจำเป็นต้องมีแรงงานที่มีทักษะในการทำงานที่ให้รายได้สูง สิ่งนี้คือปัญหาท้าทายของจีน โลกในปัจจุบันประเทศยากจนสามารถพัฒนาขึ้นมามีฐานะเศรษฐกิจในระดับปานกลางได้ภายในเวลาไม่กี่สิบปี อย่างเช่น จีน ขณะที่ประเทศตะวันตกเคยใช้เวลาในการพัฒนาแบบนี้ นานนับร้อยปี
แต่ความรวดเร็วในการพัฒนาจึงกลายเป็นปัญหา เพราะทรัพยากรมนุษย์สำหรับประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงจำเป็นต้องมีการสั่งสมมาล่วงหน้า กล่าวกันว่าการที่จะยกระดับการศึกษาของแรงงานทั้งหมด รวมทั้งแรงงานที่สูงอายุแล้ว อาจใช้เวลานานถึง 45 ปี ดังนั้น ประเทศจึงต้องพัฒนาแรงงานล่วงหน้าเพื่อสนับสนุนการเติบโตที่มีคุณภาพในอนาคต

ที่มาภาพ : https://www.google.co.th/books/edition/Invisible_China/LaD6DwAAQBAJ?hl=en&gbpv=1&printsec=frontcover
บทเรียนจากไต้หวัน
หนังสือ Invisible China หยิบยกกรณีความสำเร็จในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไต้หวัน ในทศวรรษ 1980 หลังจากเศรษฐกิจเติบโตมาหลายปีอย่างต่อเนื่อง แทบทุกคนในไต้หวันล้วนมีงานทำ แรงงานที่ล้นเกินถูกใช้จนหมด หนทางเดียวที่ผู้ประกอบการจะรักษาคนงานของตัวเองคือการเพิ่มค่าแรง
การเพิ่มค่าแรงทำให้ผลกำไรลดลง ผู้ประกอบการไต้หวันที่ผลิตสินค้าใช้แรงงานไร้ฝีมือ เช่น ของเด็กเล่น สิ่งทอ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า
ต้องฐานย้ายการผลิตไปประเทศค่าแรงต่ำ เช่น จีน ระหว่างปี 1986-1989 งานในโรงงานของไต้หวันย้ายไปต่างประเทศถึง 300,000 งาน ช่วงปี 1990-1998 ผู้ประกอบการย้ายธุรกิจไปต่างประเทศ 80,000 ราย
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับไต้หวันหลังจากนี้ ทุกวันนี้คนที่ไปเยือนไต้หวันจะเห็นเศรษฐกิจที่คึกคัก เต็มไปด้วยงานที่ดีมีคุณภาพ ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่สูง และสังคมมีเสถียรภาพ
คำถามคือไต้หวันทำอย่างไรกับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ในการรับมือกับค่าแรงที่สูงขึ้น ไต้หวันพัฒนาไปสู่การผลิตห่วงโซ่อุปทานที่มีคุณค่าสูงขึ้น แทนที่จะหาทางเอาชนะการแข่งขันในตลาดโลกโดยกดค่าแรงของคนงาน
บริษัทไต้หวันสามารถสร้างความแตกต่างจาก “คุณภาพ” ของสินค้า นวัตกรรมใหม่ และชื่อเสียงของตราสินค้า เช่น Acer เวลาต่อมาไต้หวันกลายเป็นผู้นำการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ ไต้หวันกลายเป็นสัญลักษณ์ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณภาพ
เศรษฐกิจไต้หวันยังขยายตัวอย่างมาก ในด้านธุรกิจบริการ ช่วงปีทศวรรษ 1980 และ1990 คนทำงานในธุรกิจบริการแบบคุณภาพสูงเพิ่มมากขึ้นและอย่างรวดเร็ว ในทศวรรษ 1970 ไต้หวันมีชื่อเสียงว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและภัตตาคารที่เก่าแก่ ตลาดนัดกลางคืน (NightMarket) และหาบเร่แผงลอย แต่ทุกวันนี้ คนเดินทางไปไต้หวันเพื่อไปทานอาหารจีนที่ดีที่สุดในโลก ในร้านอาหารที่ตกแต่งอย่างดีเลิศ
ความสำเร็จในการพัฒนาของไต้หวัน มีลักษณะเดียวกับเกาหลีใต้ช่วงจากรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง อัตราการว่างงานมีตัวเลขแทบเป็นศูนย์ทุกคนได้ประโยชน์หมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ นักลงทุนที่ย้ายไปลงทุนในจีนหรือคนงาน ทั้งที่มีทักษะสูงและมีฝีมือต่ำค่าแรงสูงขึ้นกับโอกาสการมีงานทำแบบใหม่ๆ ทำให้รายได้ต่อคนเพิ่มขึ้นและความเหลื่อมล้ำลดลง

ที่มาภาพ : https://clb.org.hk/en/content/workers-crowdfund-hebei-food-delivery-rider%E2%80%99s-medical-bills-showing-need-work-safety
คุณภาพแรงงานจากอาชีวศึกษา
Invisible China บอกว่า กรณีของจีน แม้ทุกวันนี้ ทางการจีนแทบไม่กล่าวถึงเรื่อง “กับดักรายได้ปานกลาง” แต่เจ้าหน้าที่จีนมองปัญหานี้อย่างจริงจังและดำเนินการในการตระเตรียมแรงงานจีน สำหรับปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจในอนาคต
โดยเฉพาะการขยายการศึกษาทางวิชาการระดับสูง สำหรับกลุ่มคนชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัย การอบรมผู้ประกอบการ วิศวกร และการสร้างนักประดิษฐ์ สำหรับแรงงานทั่วไป นับจากปี 2002 จีนได้ขยายการศึกษาระดับอาชีวศึกษาเพื่อรองรับนักศึกษาที่ไม่ได้ไปเรียนต่อทางสายวิชาการ หรือมหาวิทยาลัย
ในแต่ละประเทศ คำว่า “อาชีวศึกษา” มีความหมายที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปอาชีวศึกษาหมายถึง การศึกษาที่เน้นวิชาชีพ หรือการเรียนรู้เพื่อวิชาชีพ ในสหรัฐฯนักเรียนที่จะไปศึกษาทางด้านอาชีวศึกษา ต้องผ่านการศึกษาระดับมันธยมปลายก่อน แต่ในหลายประเทศ อาชีวศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษารับมัธยมปลาย เช่น เยอรมันมีระบบการศึกษาด้านอาชีวะในระดับมัธยมปลาย ที่ได้รับการยกย่องว่า มีส่วนสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจเยอรมัน
Invisible China กล่าวว่า ระบบอาชีวศึกษาของจีนถูกสร้างขึ้นมาคล้ายกับระบบของเยอรมัน การศึกษาระดับมัธยมปลายของจีนมี 2 สายการเรียนรู้ ที่นักเรียนสามารถเลือกที่จะเรียนทางสายวิชาการหรือทางสายอาชีวศึกษา มัธยมปลายสายอาชีวะใช้เวลาเรียน 3 ปี ระบบการเรียนจะมีการแบ่งเวลา ระหว่างการเรียนในชั้นเรียน 2 ปี กับการฝึกอาชีพ 1 ปี วิชาที่ได้รับความนิยมในอดีตคือ การซ่อมรถยนต์ ทักษะคอมพิวเตอร์การเชื่อมโลหะ และพยาบาล
การเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่นักเรียน การลดค่าเล่าเรียน และการลดมาตรฐานทางวิชาการสำหรับการสอบเข้าเรียนอาชีวศึกษา ทำให้จีนสามารถรับนักเรียน ที่ประสงค์จะเรียนสายอาชีพ ได้หมดแทบทุกคน
ทางการจีนมองว่าการเปิดกว้างแก่นักเรียนด้านอาชีวศึกษาคือ การสร้าง “เครื่องยนต์ใหม่ของเติบโต” เป็นการเตรียมแรงงานเพื่อขั้นตอนใหม่ของเศรษฐกิจเป็นการสิ้นสุดของงานประเภทไร้ฝีมือและทำให้จีนสามารถดึงการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้น
อาชีวศึกษาเพื่ออนาคต
แต่ Invisible China วิจารณ์ว่า การศึกษามัธยมปลายสายอาชีวะของจีน จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีการปฏิรูป หากต้องการบรรลุเป้าหมายที่จีนเองวางไว้ว่าให้แรงงานทั่วไป มีทักษะที่จะมีบทบาทให้กับเศรษฐกิจแบบใหม่ เพราะปัญหาของจีนคือ โรงเรียนมัธยมปลายสายอาชีวะของจีนเน้นการสอนในทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจในอนาคต
คำถามมีอยู่ว่า อะไรคือ “ทักษะ” ที่จะทำให้คนงานจีนทั่วไปประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจแบบใหม่ในอนาคต คนทำงานจำเป็นต้องมีทักษะ
แบบที่เป็นประโยชน์ในการสมัครงาน แบบแรกคือทักษะเฉพาะด้านอาชีพเพื่อทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การซ่อมรถยนต์
ทักษะแบบที่สองคือทักษะทั่วไปหรือทางวิชาการ เช่น คณิตศาสตร์ การอ่านเข้าใจ การเขียน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และภาษาอังกฤษ ทักษะทั่วไปนี้จะสอนให้นักเรียน “สามารถที่จะเรียนรู้” สิ่งใหม่ หรือทำงานอาชีพใหม่
แต่การศึกษามัธยมปลายสายอาชีวะของจีนจะเน้นและให้ความสำคัญกับทักษะทางวิชาชีพ ขณะนี้จีนในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ประเทศจะมีรายได้สูง ประเทศรายได้สูงมีพลวัตมากกว่าประเทศรายได้ปานกลาง คนงานจะทำงานแบบใหม่มีการเปลี่ยนงาน หรือต้องสามารถที่จะเรียนรู้ได้รวดเร็ว คนงานจะปรับตัวเข้ากับภาวะเศรษฐกิจใหม่ได้ ต้องมีทักษะด้านคณิตศาสตร์คอมพิวเตอร์ การคิดวิเคราะห์ (critical thinking) และการสร้างสรรค์
แต่บางคนอาจมีคำถามว่า เยอรมันเองก็มีระบบมัธยมปลายสายอาชีวะ เช่นเดียวกับจีน แต่ทำไมจึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเยอรมันเข้มแข็ง คำตอบก็คือการศึกษามัธยมปลายสายอาชีวะของเยอรมัน ไม่ได้มีการสอนในกรอบคับแคบทางด้านวิชาชีพ นักเรียนต้องใช้เวลา 70-80% เรียนวิชาการทั่วไป เยอรมันรู้ดีว่า คนที่จบจากโรงเรียนอาชีวศึกษาจำเป็นต้องมีทักษะว่า “จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างไร”
เอกสารประกอบ
Unemployed Youth Cast Pall Over China’s Economy, 27 July 2023, Wall Street
Journal.
Invisible China, Scott Rozelle and Natalie Hell, The University of Chicago Press,
2020.