ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ ในรูปแบบ “ปลูกป่าแบบย่นระยะเวลาในการปลูก” ภายใต้โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง”

พื้นที่ป่าต้นน้ำ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ผืนป่าที่เป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ ในรูปแบบ“ปลูกป่าแบบย่นระยะเวลาในการปลูก”ภายใต้โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง”

กรมป่าไม้ ผนึกความร่วมมือ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าที่เขาพระยาเดินธง เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศได้ 5,971 ไร่ ในการดำเนินโครงการระยะที่ 1 ในช่วง 5 ปี (ปี 2559-2563) พลิกสภาพจากป่าเขาหัวโล้นที่เต็มไปด้วยโขดหินและวัชพืชเพราะถูกบุกรุกทำลาย ปัจจุบันสภาพป่าเริ่มฟื้นตัว ต้นกล้าที่ปลูกไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เติบโตขึ้นเต็มพื้นที่ มีทั้งกล้าไม้ประจำถิ่น อาทิ สะเดา ปีบ พฤกษ์ สาธร มะกอกป่า สำโรง มะค่าโมง คงคาเดือด ขันทองพยาบาท และกล้าไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ประดู่ป่า พะยูง มะค่าโมง มะค่าแต้ แดง สัก กระพี้จั่น กล้าไม้เบิกนำ ได้แก่ สะแกนา มะขามป้อม ขี้เหล็ก หว้า ถ่อน

เช่นเดียวกับความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าที่กลับสู่พื้นที่ป่าแห่งนี้อีกครั้ง นอกจากนี้ซีพีเอฟยังได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงชนิดและจำนวนประชากรของสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการฯ โดยมีที่ปรึกษาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) สำรวจเก็บข้อมูล โดยพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมาจิ้งจอก อีเห็น นกชนิดต่างๆมากกว่า 100 ชนิด เช่น นกปากห่าง นกยางเปีย นกยางควาย นกเป็ดแดง นกกวัก นกกระแตแต้แว้ด ไก่ป่า ฯลฯ และสัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้น นอกจากนี้ ผืนป่าที่นี่ซึ่งได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาเรื่องการปลูกป่าให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนที่สนใจ

“วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจควบคู่กับให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และชุมชน อนุรักษ์ ฟื้นฟู ปลูกป่าเพิ่มเติม ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศได้มากกว่า 10,000 ไร่ ผ่านการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก 5,971 ไร่ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน 2,388 ไร่ เป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา พังงา และโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการไปแล้วรวม 1,720 ไร่

โครงการด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม และดำเนินการสอดรับภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs) ในประเด็นเกี่ยวกับการขจัดความยากจน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

ซีพีเอฟมุ่งมั่นขยายผลการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน จากระยะที่ 1 (ปี 2557-2561) สู่ระยะที่ 2 (ปี 2563-2567 ) ขยายพื้นที่ฟื้นฟูและอนุรักษ์ในพื้นที่อ่าวไทยตัว ก บริเวณจังหวัดสมุทรสาคร โครงการซีพีเอฟ กษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ระยะที่ 2 (ปี 2564-2568) ขยายพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบก ซึ่งนอกจากเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศแล้ว เน้นสร้างความตระหนักให้ชุมชน เห็นความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการสร้างแหล่งอาหารของชุมชน โดยส่งเสริมชุมชนในพื้นที่โครงการปลูกผักพื้นบ้านปลอดสารไว้บริโภค เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ขยายพันธุ์ในรูปแบบธนาคารเมล็ดพันธุ์ ทำให้ชุมชนรอบป่าสามารถพึ่งตนเองได้ ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และมีสุขภาพที่ดี

“ประทีป อ่อนสลุง” ปราชญ์ชาวบ้าน ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

“ประทีป อ่อนสลุง” ปราชญ์ชาวบ้าน ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี กล่าวว่า เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้เข้ามาร่วมกิจกรรมปลูกป่าในโครงการที่กรมป่าไม้ร่วมกับซีพีเอฟ ตอนนั้นสภาพป่าไม่ได้เป็นแบบนี้ ไม่ได้มีต้นไม้ให้เราเห็นเขียวแบบนี้ สภาพก็ยังเป็นเขาหัวโล้นอยู่ โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ได้เยอะเลย ไม่ได้ปลูกแล้วทิ้ง แต่ทำให้ป่าที่เป็นเขาหัวโล้น กลับมาเป็นป่าเขียวชะอุ่ม และมีระบบการดูแลต้นไม้ที่ปลูก ตอนนี้มองขึ้่นมาที่เขาพระยาเดินธง ภูเขาอ้วนขึ้น ก็คือ ต้นไม้โตขึ้น มีความชุ่มชื้นมากขึ้น เมื่อป่ากลับมาก็เป็นแหล่งอาหารของชุมชน ความมั่นคงทางอาหารของชุมชนก็กลับมาด้วย ทำให้ชีวิตของชุมชนที่อยู่รอบๆเขาพระยาเดินธงดีขึ้น

“การที่จะทำให้ป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ มันไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ถ้ามองเรื่องของความยั่งยืน ก็คือเรื่องของการมีส่วนร่วมกัน”

“วันนี้ มีทั้งชุมชน หน่วยงานภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐ ที่เข้ามาช่วยกัน สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนคือ ชุมชนเห็นคุณค่าและมาช่วยกัน ชุมชนรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของ ผมว่าตรงนี้สำคัญ ถ้าชุมชนไม่ได้รู้สึกว่ามีส่วนร่วมหรือรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของป่า เค้าก็อาจจะทำเหมือนเดิมคือ เข้ามาทำลายป่า เข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าแบบไม่เห็นคุณค่า” ลุงประทีปกล่าว

“ลุงน้อย สลุงอยู่ ” วัย 63 ปี ชาวบ้านหมู่ 9 ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

“ลุงน้อย สลุงอยู่ ” วัย 63 ปี ชาวบ้านหมู่ 9 ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เล่าความรู้สึกจากการเข้าร่วมกิจกรรมซ่อมฝายชะลอน้ำและปลูกป่าว่า คนในชุมชนอยากเห็นป่าที่มีความชุ่มชื้น เป็นป่าสมบูรณ์ เป็นโอกาสดีที่พื้นที่ป่าบริเวณนี้ กลับมาเป็นป่าอีกครั้ง ทำให้คนในชุมชนได้มาอาศัยป่า สิ่งที่ได้ คือ ชุมชนมีแหล่งอาหาร ที่สำคัญ คือ เกิดความสามัคคีของชุมชนรอบพื้นที่ ได้มาร่วมใจกันปลูกป่า ขอบคุณซีพีเอฟที่เข้ามาชักชวนคนในชุมชนให้กลับมาดูแลป่า และซีพีเอฟยังได้ส่งเสริมชุมชนปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคเอง แบ่งปันกัน และหากมีผลผลิตจำนวนมากก็สามารถกระจายผ่านระบบตลาดของชุมชน สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

“โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต้นแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติแบบมีส่วนร่วม ที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ด้วยความมุ่งมั่นเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ และรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน