
ภาพถ่ายดาวเทียมบันทึกไฟป่าที่ลุกไหม้ในบราซิลที่มาภาพ: https://earthobservatory.nasa.gov/images/145498/uptick-in-amazon-fire-activity-in-2019
ขณะที่โลกกำลังให้ความสนใจกับการเกิดไฟป่าที่แอมะซอนที่ยังคงลุกไหม้มากว่า 3 สัปดาห์ เพราะเป็นป่าที่มีพื้นที่มหาศาล และรัฐบาลบราซิลส่งกำลังทหารพร้อมเครื่องบิน C-130 เข้าไปดับไฟ แต่แอมะซอนเป็นเพียงหนึ่งในหลายพื้นที่ของทั่วโลกที่กำลังประสบกับปัญหาไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เอเชีย ไปจนถึงลาตินอเมริกา เช่น กรีซ อลาสกา สเปน อินโดนีเซีย
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ยังมีข้อมูลด้วยว่า ไฟป่าในหน้าร้อนนี้เกิดขึ้นอย่างไม่คาดมากก่อนในพื้นที่ขั้วโลกเหนือ โดยมีไฟป่าขนาดใหญ่กว่า 100 ลูกเผาพื้นที่ Arctic Circle หรือวงกลมอาร์กติก และป่าเขตหนาวในไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ไฟป่าได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ สาเหตุหนึ่งมาจากความร้อนที่สูงขึ้น เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดอีกครั้ง หลายพื้นที่ของยุโรปประสบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์ สเปน สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร อากาศที่ร้อนขึ้นมีผลทำให้ต้นไม้แห้งเหี่ยว ป่าและทุ่งหญ้าจึงติดไฟได้ง่าย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งมีผลให้สภาพอากาศที่ร้อนมากมีระยะเวลานานขึ้น เกิดถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น การเร่งดับไฟป่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอย่างแข็งขันในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นไม้ ต้นหญ้า และพุ่มไม้ในหลายพื้นที่ของโลกเติบโตมากขึ้น แต่การทำลายป่าได้ตัดวงจรแหล่งกำเนิดน้ำตามธรรมชาติในบางภูมิภาค ทำให้ต้นไม้ที่กำลังเติบโตเหี่ยวเฉาลง ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ตั้งบ้านเรือนใกล้ผืนป่ามากขึ้น โอกาสที่จะเกิดเพลิงไหม้จึงสูงขึ้น
มนุษย์คือต้นเหตุของการทำลายป่ามากกว่าไฟป่า สำหรับพื้นที่ที่เกิดไฟป่าในรอบเดือนสิงหาคมมีดังต่อไปนี้
ไฟป่า 74,000 ลูกได้ลุกไหม้ในพื้นที่ 550 ล้านเอเคอร์ (1 เอเคอร์มีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 2 แห่ง) โดยปกติแล้วไฟป่าถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ แต่ไม่ใช่ที่แอมะซอน เพราะมีสาเหตุจากคน เกษตรกรได้ใช้วิธีการหักร้างถางป่าและเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ป่าไว้ทำการเกษตร ขณะที่พวกลักลอบตัดไม้ก็ได้เผาเพื่อทำลายหลักฐาน และบางครั้งเผาเพื่อไล่คนพื้นเมืองออกจากพื้นที่
อินโดนีเซียเจอแรงกดดันจากนานาชาติให้ยุติการหักร้างถางป่าและเผาพื้นที่เพื่อทำการปลูกปาล์มและยูคาลิปตัส หลังจากที่เกิดไฟป่ารุนแรงในปี 2015 เพราะไฟที่เกษตรจุดเพื่อเผาเตรียมพื้นที่มักจะลุกลามจนไม่สามารถควบคุมได้
ไฟป่าที่แองโกลาใหญ่กว่าแอมะซอน

ที่มาภาพ: https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-08-23/more-fires-now-burning-in-angola-congo-than-amazon-maps
นอกจากนี้ ไฟป่าที่แองโกลายังเกิดขึ้นมากกว่าแอมะซอน แม้พื้นที่ป่าแอมะซอนในบราซิลถูกไฟป่าเผาในวงกว้าง แต่พื้นที่ที่เกิดไฟป่าในแองโกลาก็ยังมากกว่าบราซิลอีก
ภาพถ่ายทางดาวเทียมของ Weather Source ชี้ว่าเกิดไฟป่าในแองโกลาถึง 6,902 ลูกในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง มากกว่าสาธารณรัฐคองโกที่เกิดไฟป่า 3,395 ลูก ขณะที่บราซิลเกิดไฟป่า 2,127 ลูก อยู่ในอันดับที่สามรองจากคองโก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ผิดปกติของแอฟริกากลาง ไฟป่าที่เกิดขึ้นยังได้ลุกไหม้ผืนป่าแอมะซอนที่อยูในเขตโบลิเวียอีกด้วย
ข้อมูลดาวเทียม Aqua ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration – NASA) บันทึกไว้ว่า ภายใน 1 สัปดาห์ของเดือนมิถุนายนปีก่อน มีไฟป่าลุกไหม้กว่า 67,000 ลูก เนื่องจากเกษตรกรเผาพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่ไว้ทำการเพาะปลูกรอบใหม่

ที่มาภาพ: https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-08-23/more-fires-now-burning-in-angola-congo-than-amazon-maps
ปีนี้บราซิลเจอไฟป่ามากกว่าปีก่อน 85%
ในปีนี้ รัฐรอนโดเนีย ในเขตแอมะซอนของบราซิล ประสบกับไฟป่ารุนแรงมาก ส่วนหนึ่งมาจากการทำลายป่า รอนโดเนียนี้จึงเป็นรัฐที่มีการทำลายป่ามากที่สุดในเขตแอมะซอน โดย มีไฟป่าลุกไหม้ 6,436 ลูกแล้วตั้งแต่ต้นปีข้อมูลของสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิล (National Institute for Space Research – INPE) พบว่า ในปีนี้แล้วบราซิลเกิดไฟป่ามากกว่าระยะเดียวกันของปีก่อนถึง 85% โดยมีไฟป่าเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 80,626 ลูก ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2562