
ที่มาภาพ : https://www.scmp.com/tech/article/3011048/huawei-founder-ren-zhengfei-says-clash-us-was-inevitable
แอลฟาเบต อิงก์ (Alphabet Inc.) บริษัทแม่ของกูเกิลเปิดเผยวันนี้ว่า ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับหัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ของจีนออกไป 90 วัน หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ประกาศผ่อนปรนเงื่อนไขทางการค้าให้หัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับสองของโลก
เมื่อวานนี้มีรายงานข่าวสำนักข่าวรอยเตอรส์ว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 แอลฟาเบต อิงก์ (Alphabet Inc.) บริษัทแม่ของกูเกิลได้สั่งห้ามทำธุรกิจกับหัวเว่ยในด้านที่ต้องมีการถ่ายโอนฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการด้านเทคนิค ยกเว้นบริการบนระบบ open source licensing เนื่องจากหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ถูกขึ้นบัญชี Entity List หลังจากการลงนามในคำสั่งฉุกเฉินของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ห้ามบริษัทสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ผลิตโดยบริษัทต่างๆ ที่ก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายที่หัวเว่ย เทคโนโลยี ของจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทสหรัฐฯในการดำเนินธุรกิจกับหัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้บริษัทโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ทำงานกับหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ เพื่อให้ผู้ใช้ยังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์หัวเว่ยได้และคุ้มครองผู้ใช้จากความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เครือข่ายออนไลน์การประกาศยกเลิกชั่วคราวนี้จะทำให้กูเกิลสามารถอัปเดพซอฟต์แวร์ให้กับผู้ใช้โทรศัพท์หัวเว่ยที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ไปจนถึงวันที่ 19 สิงหาคม
“การอัปเดตโทรศัพท์และรักษาความปลอดภัยเป็นการทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ และการอนุญาตชั่วคราวทำให้เราสามารถส่งซอฟต์แวร์อัปเดตและ security patches ให้กับมือถือรุ่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเวลา 90 วัน” โฆษกกูเกิลให้ข้อมูลกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีผ่านอีเมลล์ในวันนี้
ยกเลิกคำสั่งห้ามชั่วคราว 90 วัน
กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯระบุว่า จะมีการประเมินว่าจะยังขยายเวลาการยกเลิกคำสั่งขั่วคราวออกไปอีกหรือไม่หลังจากครบระยะผ่อนปรน 90 วัน
ในสัปดาห์ก่อนกระทรวงพาณิชย์ได้ใส่ชื่อหัวเว่ย เทคโนโลยีส์และอีก 68 บริษัทไว้ในบัญชีดำด้านการส่งออก ทำให้บริษัทจีนไม่สามารถซื้อสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯได้
บริษัทที่มีรายชื่อใน Entity List ถูกจัดว่ามีกิจกรรมที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯหรือเป็นภัยต่อนโยบายผลประโยชน์ประเทศ
สำหรับรายละเอียดของประกาศกระทรวงพาณิชย์นั้นระบุว่า อนุญาตให้มีการเปิดเผยความเปราะบางของระบบความปลอดภัยและให้หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ร่วมในการพัฒนามาตรฐานเครือข่าย 5G ที่จะใช้ในอนาคต
ด้านโฆษกหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อการผ่อนผันของกระทรวงพาณิชย์
หัวเว่ย เทคโนโลยีส์เป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับสองของโลก เมื่อวัดจากส่วนแบ่งตลาดในไตรมาสแรก ก่อนหน้านี้บริษัทประกาศเป้าหมายที่จะเป็นเบอร์หนึ่งสมาร์ทโฟนภายในปี 2020
ในปี 2018 เงินที่หัวเว่ย เทคโนโลยีส์จ่ายออกไปทั้งหมด 70 พันล้านดอลลาร์นั้น จำนวน 11 พันล้านดอลลาร์ไหลเข้าบริษัทสหรัฐฯ ทั้งควอลคอม อินเทลและไมครอนเทคโนโลยี นอกจากนี้ในไตรมาสแรกปี 2562 หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ส่งสินค้าออกไปตลาดโลกในสัดส่วนราว 49%
เหริน เจิ้งเฟย เจ้าของหัวเว่ยบอกคาดไว้อยู่แล้ว
ด้านเซ้าท์ ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง หัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า ความขัดแย้งกับสหรัฐฯ เป็นสิ่งคาดไว้อยู่แล้ว และเลี่ยงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร เนื่องจากเป้าหมายของบริษัทฯที่จะก้าวสู่ผู้นำของโลก กระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และนำไปสู่การตอบโต้

เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ ที่มาภาพ : https://www.scmp.com/tech/article/3011048/huawei-founder-ren-zhengfei-says-clash-us-was-inevitable
“เราเสียสละ(ผลประโยชน์ของ) บุคคล และครอบครัวเพื่อเป้าหมาย การขึ้นสู่ผู้นำของโลก และเพื่อเป้าหมายนี้ ความขัดแย้งกับสหรัฐฯก็จะเกิดขึ้น ช้าหรือเร็วเท่านั้น” เหริน เจิ้งเฟยกล่าวในการให้สัมภาษณ์สื่อรัฐเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562
ในสัปดาห์ที่แล้วสหรัฐฯได้ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย และบริษัทในเครือทำให้ไม่สามารถซื้อบริการและชิ้นส่วนจากบริษัทสหรัฐฯได้ หากไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฉุกเฉินของ ห้ามบริษัทสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ผลิตโดยบริษัทต่างๆ ที่ก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ
การกระทำดังกล่าวทำให้ในประเทศจีนเกิดความรู้สึกว่า สหรัฐฯพยายามที่จะสกัดการเติบโตของความสามารถทางเทคโนโลยีของจีน
เมื่อวันจันทร์จึงมีบริษัทสหรัฐฯจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผู้ผลิตชิป ได้แก่ อินเทล ควอลคอม บรอดคอม ซิลลินซ์แจ้งพนักงานให้ระงับการส่งสินค้าให้หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ขณะที่กูเกิลระงับการเข้าถึงบริการบางอย่างในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
เหริน เจิ้งเฟยกล่าวว่า คำสั่งห้ามของสหรัฐฯไม่มีผลต่อแผนธุรกิจ 5G ของหัวเว่ย รวมทั้งคู่แข่งไม่สามารถตามทันในช่วงเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี และกล่าวอีกว่า นักการเมืองสหรัฐฯประเมินบริษัทต่ำเกินไป
สำหรับการผ่อนปรนจากรัฐบาลสหรัฐเพื่อให้หัวเว่ยใช้เครือข่ายเดิมและให้ผู้ใช้โทรศัพท์หัวเว่ยสามารถอัปเดตได้นั้น ในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ผ่านบัญชีโซเชียลมีเดีย ของไชน่า เซ็นทรัล เทเลวิชั่น สถานีโทรทัศน์ของรัฐ เหริน เจิ้งเฟยกล่าวว่า แทบจะไม่มีความหมายสำหรับหัวเว่ย เพราะบริษัทเตรียมความพร้อมรับมือกับข้อจำกัดมานานแล้ว
เทเรซา เหอ ถิงโป ผู้บริหารของไฮซิลิคอนเขียนลงในบันทึกช่วยจำหลังจากที่สหรัฐฯมีคำสั่งห้ามในสัปดาห์ก่อนว่า บริษัท ไฮซิลิคอน (HiSilicon) บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่หัวเว่ย ถือหุ้นเต็ม 100% ซึ่งผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟนและเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท ได้เตรียมการมาเป็นปี เพื่อรับมือกับกรณีที่สหรัฐฯตัดการเข้าถึงชิปและเทคโนโลยีที่ล้ำยุค
เหริน เจิ้งเฟยกล่าวว่า ไฮซิลิคอนได้ทุ่มเททรัพยากรที่สำคัญเพื่อสร้างระบบสำรองข้อมูล( backup) เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และจากการที่สหรัฐฯขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยและบริษัทในเครือ แผนสำรองข้อมูลก็ต้องนำมาใช้และยังคงสร้างความมั่นใจต่อระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุดของผลิตภัณฑ์บริษัทและยังคงผลิตสินค้าต่อเนื่อง
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ริชาร์ด อวี้ เฉิงตง ผู้บริหารฝ่ายสมาร์ทโฟนยืนยันว่า บริษัทได้พัฒนาระบบปฏิบัติการ (operating systems-OS)ของตัวเอง เพื่อใช้สำหรับสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ของบริษัท รองรับในกรณีที่ว่าบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐไม่สามารถให้บริการได้
เหริน เจิ้งเฟยกล่าวว่า หัวเว่ยจะไม่ยกเลิกการใช้ชิปสหรัฐฯแต่มีแผนสำรอง โดยบริษัทสามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีคุณภพาเท่าเทียมกับมาตรฐานอเมริกา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกซื้อ
เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่าหัวเว่ยรู้สึกขอบคุณ บริษัทอเมริกันทุกรายได้สนับสนุนหัวเว่ยอย่างมาก ที่ปรึกษาของบริษัทฯหลายรายก็มาจากบริษัทอเมริกัน เช่น ไอเบีเอ็ม
เมื่อถามว่าวิกฤตินี้สำหรับหัวเว่ยจะนานแค่ไหน เหริน เจิ้งเฟยกล่าวว่า คำถามนี้ควรถามประธานาธิบดีทรัมป์ดีกว่า
“คำตำหนิควรจะถูกส่งตรงไปที่นักการเมืองสหรัฐฯ ไม่ใช่บริษัทฯ” เหริน เจิ้งเฟยกล่าว