จากการเปลี่ยนแปลงของระบบการค้าแบบดั้งเดิมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ภายใต้สภาพแวดล้อมใหม่นี้ เป็นแรงกดดันที่ทำให้กรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่หารายได้ให้กับรัฐบาลต้องเร่งปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีครั้งใหญ่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่
แรงกดดันดังกล่าวนี้ประกอบด้วย 1. กรณีกรมสรรพากรประเทศสหรัฐอเมริกาออกกฎหมายป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี หรือที่เรียกว่า “FATCA” (Foreign Account Tax Compliance Act) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 โดยกำหนดให้สถาบันการเงินไทยต้องจัดส่งรายงานธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าชาวอเมริกันให้กรมสรรพากรไทยส่งต่อไปให้กรมสรรพากรสหรัฐอเมริกา หากไม่ดำเนินการภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 (เลื่อนบังคับใช้มา 1 ปี) สถาบันการเงินไทยที่ทำธุรกรรมทางการเงินกับลูกค้าชาวอเมริกันจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 30% ของเงินได้ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐฯ
2. จากการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง Asia Pacific Group on Money Laundering หรือ “APG” เป็นองค์กรของสหภาพยุโรปที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานด้านการป้องกันการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย บังคับให้ไทยต้องปรับปรุงกฎหมายฟอกเงินให้เป็นไปตามมาตรฐาน Financial Action Task Force หรือ “FATF” เพื่อแลกกับการถอดชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย วันที่ 26 เมษายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อให้กรมสรรพากรปฏิบัติตามมาตรฐาน FATF ตามที่ ครม. เคยมีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2559
และ 3. จากการที่กรมสรรพากรไทยต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของ FATCA และ FATF ทำให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องนำระบบ e-Payment มาบังคับใช้ โดยกำหนดให้สถาบันการเงินส่งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้าทั้งหมดมาที่กรมสรรพากร เพื่อส่งต่อไปยังกรมสรรพากรสหรัฐอเมริกา และ “APG” ตามที่กล่าวมาในข้างต้น
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงระบบการค้าเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล ทำให้กรมสรรพากรต้องปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะระบบการชำระเงิน (ค่าภาษี) จำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูลเพื่อจัดส่งข้อมูลตามข้อบังคับของ FATCA และ FATF ในรูปแบบของดิจิทัล ดังนั้น ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ก่อนเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากข้อมูลที่กรมสรรพากรต้องนำส่งหน่วยงานทั้ง 2 แห่ง ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง กรมสรรพากรจึงนำมาตรการเอสเอ็มอีบัญชีเดียวมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการ 430,000 ราย จากนั้น ภายในเดือนกันยายน 2559 กรมสรรพากรต้องยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากร บังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีรายได้เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ต้องชำระค่าภาษีทุกประเภทผ่านระบบ e-Payment ของธนาคารพาณิชย์ (ไม่รับชำระค่าภาษีเป็นเงินสด) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป และทยอยให้นำผู้ประกอบการทั้งหมดเข้าสู่ระบบ e-Payment เต็มรูปแบบภายในปี 2561
“ผลการศึกษาของของกรมสรรพากร ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อ-ขายสินค้าและบริการผ่านระบบเงินสดปีละ 75,000 ล้านบาท ประกอบต้นทุนการนำเงินสดไปฝากธนาคาร ถอนเงินสดอออกมาชำระค่าสินค้า ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ค่าจ้างรถขนส่งเงินสด ค่าจ้างยามรักษาความปลอดภัย บางครั้งก็มีการปล้นรถขนเงิน หากเปลี่ยนมาใช้ระบบ e-Payment เต็มรูปแบบ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถนำเงินจำนวนนี้มาใช้ในการพัฒนาประเทศได้” นายประสงค์กล่าว
นายประสงค์กล่าวต่อว่า จากมาตรการป้องการหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐอเมริกา (FATCA) และมาตราป้องกันการฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้ายของยุโรป (FATF) บีบบังคับให้ไทยต้องแก้ไข พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และประมวลรัษฎากร ขณะนี้ร่างแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว และกำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ สำหรับผู้ประกอบการที่ลงบัญชีไม่ถูกต้องภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ หากรายการที่ไม่ได้ลงบันทึกบัญชีมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน กรมสรรพากรต้องยึดอายัดทรัพย์เอาไว้ก่อน จากนั้นกรมสรรพากรจะเรียกผู้ประกอบการมาอธิบายที่มาของเงินได้ เงินจำนวนนี้เสียภาษีครบถ้วนหรือยัง ถ้ายังไม่ได้เสียภาษี ก็ให้เสียภาษีให้ถูกต้อง รวมทั้งกรณีของการขอคืนภาษีเป็นเท็จ หากวงเงินที่ขอคืนภาษีเกิน 1 ล้านบาท หรือใช้ใบกำกับภาษีปลอมมูลค่าเกิน 15 ล้านบาท ก็เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายฟอกเงินเช่นกัน กรมสรรพากรมีอำนาจยึดอายัดทรัพย์ และส่งเรื่องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญา
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า หลังจากกรมสรรพากรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการลงบันทึกบัญชีให้ถูกต้อง โดยไม่ตรวจสอบภาษีย้อยหลัง ตามมาตรการเอสเอ็มอีบัญชีเดียว เฟสที่ 2 ออกกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกิน 500 ล้านบาท ชำระภาษีทุกประเภทผ่านระบบ e-Payment ของธนาคารพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 และบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายชำระภาษีผ่านระบบ e-Payment ของธนาคารพาณิชย์ภายในปี 2561 ข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดจะออนไลน์มาที่กรมสรรพากร การหลบเลี่ยงภาษีทำได้ยากขึ้น
“ยกตัวอย่าง นาย ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 แจ้งกรมสรรพากรมีรายได้ 2 ล้านบาทต่อปี ปรากฏว่าในปีนั้นมีเงินโอนเข้าบัญชีนาย ก. ทั้งหมด 50 ล้านบาท กรมสรรพากรก็จะสั่งพิมพ์รายการธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดส่งไปที่บ้านของนาย ก. หรือออกจดหมายเรียกนาย ก. มาอธิบายว่าเงินที่โอนเข้ามาในบัญชีเป็นรายได้จากอะไร หากนาย ก. อธิบายไม่ได้ อาจจะมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน และถูกประเมินภาษีย้อนหลัง สมัยก่อนเจ้าหน้าที่สรรพากรอาจช่วยเหลือนาย ก. ได้ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นหรือหรี่ตาข้างเดียว เพราะไม่มีฐานข้อมูลที่ใช้ในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ปัจจุบันข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกและโชว์อยู่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ วันนี้คงไม่มีเจ้าหน้าที่สรรพากรคนไหนกล้าช่วยเหลือนาย ก. ยอมเอาอนาคตราชการมาเสี่ยงกับการถูกดำเนินคดีอาญา มาตรา 157 ฐานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีโทษถึงขั้นไล่ออกจากราชการและจำคุกด้วย” นายประสงค์กล่าว

วันที่ 22 พ.ค. 2559 กรมสรรพากรร่วมกับสมาคมค้าทองคำ จัดสัมมนา “โอกาสทอง ร้านทองเปลี่ยนผ่านสู่นิติบุคคล” ชั้น 12 อาคารไทย ซีซี ทาวเวอร์ สาทรใต้ กรุงเทพ
นายประสงค์กล่าวว่า จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยถูกแรงกดดันจากต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลต้องแก้ไขกฎหมายฟอกเงินและประมวลรัษฎากร เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการแก้ปัญหาก่อการร้าย ฟอกเงิน และหลบเลี่ยงภาษี รวมทั้งรายงานข้อมูลธุรกรรมทางการเงินให้กรมสรรพากรสหรัฐอเมริกา และ APG ตามข้อตกลง ข้อมูลที่จัดส่งให้กับองค์กรเหล่านี้ต้องถูกต้องแม่นยำ จำเป็นต้องสร้างฐานข้อมูล โดยนำระบบ e -Payment มาบังคับใช้ การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ทำให้กรมสรรพากรต้องเร่งทำความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วนได้ปรับตัว เตรียมความพร้อมรองรับผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ภายหลังกรมสรรพากรปรับเปลี่ยนระบบการชำระภาษี จากเงินสดเป็น e-Payment โดยเริ่มจากกลุ่มธุรกิจซื้อ-ขายทองคำ เพชรพลอย และร้านขายยา เป็นลำดับแรก