พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด เป็นโฆษกนอกทำเนียบ ที่มีสีสันการเมืองสูงสุดคนหนึ่ง

เป็นโฆษก-ใต้ดิน-ชี้แจงข่าวกลางควันปืน ย่านถนนราชดำเนิน มาตั้งแต่ยุคพฤษภาทมิฬ-ยุคพฤษภา 2553 จรยุทธ์ร่วมกับรัฐบาลประชาธิปัตย์ ในปฏิบัติการผ่านฟ้า-ราชประสงค์ เผชิญหน้ากับคนเสื้อแดงมาไม่น้อยกว่าครึ่งทศวรรษ

ในฐานะนายทหารรุ่นใหม่ เขาไม่กล้าบอกว่า 22 พฤษภาคม 2557 จะเป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย แต่ทายใจนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า “จะรีบทำ รีบไป”

เมื่อนายทหารใน-นอกกองทัพกำลังเล่นการเมือง ไทยพับลิก้านำเสนอบทสนทนาเกมการเมือง กับนายทหารที่ปฏิบัติการ “รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” เจ้าของรหัส “นารีสโมสร 2”

ไทยพับลิก้า: ทำไมถูกเลือกให้ทำหน้าที่ “โฆษก” ในภาวะเผชิญหน้าระหว่างทหาร-การเมือง ตั้งแต่สมัยพฤษาทมิฬ

เท่าที่ประมวลเอาเองก็เข้าใจว่า หนึ่ง คงเป็นเพราะการใช้ภาษา คือ เวลาเล่าเรื่องให้สังคมฟัง ให้คนอื่นฟัง เป็นคนที่เล่าเรื่องแล้วน่าจะเข้าใจได้ไม่ยากนัก ใช้ภาษาบ้านๆ เพราะว่าโดยปกติเรื่องราวที่เกี่ยวกับราชการมักจะเป็นคำที่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปฟังแล้วต้องแปลไทยเป็นไทย

สอง ด้วยบุคลิกลักษณะของผมเอง แล้วก็ทหารส่วนใหญ่นั้นมักจะชงเองกินเอง คือฟังเอง ชี้แจงเอง การทำงานก็จะอยู่ตั้งแต่กระบวนการต้นทางเลย ว่าเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับใครที่ไหนอย่างไร โดยผมจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเองทั้งหมด แล้วมาชี้แจง

เหตุผลที่สาม น่าจะเป็นด้วยบุคลิกลักษณะ คือ ในสังคมของคนไทย แม้ว่าจะมีความเป็นสีสันสำหรับบุคคลที่พูดจาชนิดที่เรียกเสียงฮือฮาได้ แต่เชื่อว่าในสังคมส่วนหนึ่งนั้นมีความรุนแรงเกิดขึ้นพอสมควรแล้ว ก็อยากได้มนุษย์อีกประเภทหนึ่งที่ทำความเข้าใจในแบบร่มๆ ได้ ไม่รุนแรงจนเกินไปนัก พูดจาให้เกียรติทุกส่วนทุกฝ่าย ไม่กระแทกแดกดันจนเกินบุคลิกที่ควรจะเป็น ซึ่งน่าจะเป็น 3 ประการนี้ จึงทำให้ผู้บังคับบัญชามอบหมายหน้าที่ให้

ไทยพับลิก้า: ในความขัดแย้งในช่วง 2 ทศวรรษกว่าๆ ที่ผ่านมา เป็นลักษณะการเมือง 2 ขั้ว 2 สี เพราะเอกลักษณ์ส่วนตัวหรือไม่ ถึงถูกใช้บริการ

อาจจะเป็นเพราะจุดเริ่มต้นที่เมื่อเข้ามาตรงนี้เรียบร้อยแล้ว จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ว่าหากบุคคลนี้เป็นคนพูดเป็นคนชี้แจงก็แสดงว่าเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งอย่างนี้ เอาตัวคนอื่นมาอาจจะถูกมองว่า “ใช่หรือ” นี่จึงเป็นส่วนหนึ่ง

และบังเอิญที่ผมเองเป็นคนกล้า หมายความว่าเรื่องของงานการเมือง เรื่องของความขัดแย้งทั้งหลายนั้น บางครั้งต้องพูดตรง ไม่สามารถที่จะพูดเอาใจใครฝั่งใดฝั่งหนึ่งได้ ต้องพูดตรงตามความเป็นจริงและยึดในกรอบนโยบายที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ ซึ่งเป็นกรอบนโยบายที่ “ถูกต้อง” กับสิ่งที่เป็น “ทำนองคลองธรรม” เพราะฉะนั้น การที่จะกล้าพูดเรื่องลักษณะแบบนี้นั้นคงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ก็อาจจะเป็นเพราะเป็นคนกล้าพูด

การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้บังคับบัญชาของทหารกับผมนั้นไม่เหมือนนักการเมือง โดยที่นักการเมืองเบอร์หนึ่งกับโฆษกก็มักจะไปไหนมาไหนด้วยกัน ทานข้าวด้วยกัน นั่งคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่สำหรับทหารไม่ใช่ ยศพลเอกกับพลตรีนั้นห่างกันแค่ยศเดียว แต่ว่าในความเป็นจริงนั้นมีระยะห่างกันมากด้วยความเป็นรุ่น ด้วยความเป็นพี่เป็นน้อง

เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ผู้บัญชาการไปที่ไหนต้องตามไปด้วย แต่วิธีการทำงานคือ จะต้องศึกษาว่ากรอบนโยบายเป็นเช่นไร บุคลิกลักษณะของเจ้านายเป็นอย่างไร การตอบคำถาม กรอบแนวความคิดเขาเป็นอย่างไร ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ แล้วนั่นแหละคือนโยบายที่จะต้องอธิบายความในเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง

ไทยพับลิก้า: ก็ต้องเดาใจ พล.อ. ประยุทยธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในหลายๆ เหตุการณ์

เหมือนประมาณนั้นครับ

ไทยพับลิก้า: การกำหนดทิศทางทางการเมือง ต้องตอบคำถามสด ไม่ต้องรอความเห็นผู้บังบัญชา เช่น ข่าวลือบีบนายพล พ้นกองทัพก่อนเกษียณ เดาใจนายกรัฐมนตรีอย่างไรถึงตอบแบบฟันธงไปได้

ตรงนี้ผมก็ไม่ได้เรียนถามท่านนายกรัฐมนตรี แต่คิดเอาตามสิ่งที่เห็นตามบุคลิกของท่านว่า โดยปกติแล้วท่านนายกฯ เป็นผู้ไปขอร้องบุคคลทั้งในกองทัพและนอกกองทัพให้มาช่วยทำงานในภาคของการเมือง ท่านไปขอร้องมา เพราะฉะนั้น ท่านนายกฯ ไปขอด้วยตนเองแล้วจะมาปรับออกก็คงเป็นไปไม่ได้

บุคลิกลักษณะของนายทหารที่มีส่วนเกี่ยวพันกันทั้งสามท่าน เมื่อได้ดูบุคลิกแล้วไม่ว่าจะเป็น พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ควบตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการ คสช. หรือพล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ท่านมีบุคลิกของคนที่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน ไม่ใช่เป็นคนแบบไปเรื่อยๆ เพราะว่าได้เคยทำงานร่วมกันในกองทำมาก่อน ด้วยเหตุผลทั้งหลายเหล่านี้จึงเชื่อว่าจะไม่มีการลาออก หรือปรับให้ออก จึงสามารถตอบแบบฟันธงไปได้

ที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคำถามว่ามีการตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร ก็ท่านทั้งหลายวิพากษ์วิจารณ์กันเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดคือกองทัพควรอยู่ห่างจากการพูดคุยในลักษณะแบบนี้ ก็ตอบไปโดยที่ไม่ได้ปรึกษาหารือท่านโดยนำนโยบายนำกรอบแนวทาง นำหลักการของกองทัพบกเป็นตัวตั้ง แล้วก็โชคดีว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่เคยได้รับคำตำหนิจากผู้บังคับบัญชา

พลตรี สรรเสริญ ขณะทำหน้าที่โฆษกในวาระต่างๆ

พลตรี สรรเสริญ ขณะทำหน้าที่โฆษกในวาระต่างๆ

ไทยพับลิก้า: ภาพจากการทำงานใน ศอฉ. และ คสช. ทำให้ พล.ต. สรรเสริญ ดูเป็นขั้วตรงข้ามกับฝ่ายเพื่อไทย รวมถึงกลุ่ม นปช. ด้วย ใช่หรือไม่

โดยสังคมส่วนรวมมองว่าอย่างนั้น ผมคิดว่า แต่หากจะดูให้ดีในบางโอกาส บางคนก็บอกว่า “ไก่อูผลัดขน” หรือ “เปลี่ยนขั้ว” ตอนพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งขึ้นมาเป็นรัฐบาล ซึ่งความจริงไม่ใช่ ผมไม่ได้มีความรู้สึกว่าต้อง “อิง” กับขั้วการเมืองใด เพราะว่าผมเป็น “ข้าราชการทหาร” มีผู้บังคับบัญชาของตนเองที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้คุณให้โทษในการเจริญเติบโต ไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมือง และกองทัพก็พยายามทำกองทัพให้ปลอดจากการเมืองอยู่แล้ว ผมมั่นใจในผู้บังคับบัญชา

เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ผมจะต้องไปอิงสีสันกับทางการเมือง แต่ถามว่าสนิทกับคนที่อยู่ในพรรคการเมืองต่างๆ บ้างไหม ก็คนทำงานด้วยกัน ประเทศไทยก็ไม่ได้กว้างขวางหนักหนาก็ต้องรู้จักกันบ้าง รู้จักสามีของหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่ง รู้จักแกนนำของอีกพรรค ก็เคยคุยกันทุกคน แต่ว่าผมไม่ได้แอบอิงกับสีของการเมือง แล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเป็นศัตรูกับเขา เพราะเราเป็น “ข้าราชการ”

ไทยพับลิก้า: ในเวลานี้ นายทหารในกองทัพและนายทหารนอกกองทัพ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะพูดได้ไหมว่าทหารเข้ามาสู่การเล่นการเมืองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

ถ้าพูดอย่างนั้นก็ไม่ผิดนัก แต่ใจผมไม่อยากให้ใช้คำว่าเล่นการเมือง คำว่า “เล่นการเมือง” อาจจะดูเหมือนว่ามีความฝักใฝ่ อยากจะเข้ามาดำเนินการในเรื่องของการเมือง แต่ความจริงไม่ใช่ ทหารไม่ได้อยากเข้ามาเลย แต่ด้วยเหตุที่ไม่สามารถที่จะหาทิศทางไปทางหนึ่งทางใดได้ ด้วยกลุ่มผู้ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง 2 กลุ่มใหญ่ๆ ไม่สามารถบริหารจัดการอีกลุ่มหนึ่งได้

พรรคหนึ่งได้เป็นรัฐบาลก็บริหารจัดการอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ อีกพรรคหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลก็บริหารจัดการอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีทิศทางที่ “ไปไม่ได้” ในฐานะของ “ทหาร” ที่เคยถูกปลูกฝังมาว่า อะไรที่แม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงแต่ถ้าสามารถเข้าไปช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาได้ ไม่ปล่อยให้ประเทศแย่ไปกว่านี้ ก็ต้องทำ เพราะทหารเป็นข้าราชการทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อพระเจ้าอยู่หัว ทำเพื่อสังคมในสิ่งที่รักและได้ปฏิญาณเอาไว้ว่า จะรักษามรดกของชาติไว้ด้วยชีวิต ทหารทุกคนคิดแบบนี้ ก็จะอาสาเข้ามาทำ แต่ว่าทำในระยะเวลาที่จำกัด เพื่อให้สังคมเห็นว่าทหารมีความปรารถนาดีจริงๆ ที่จะแก้ไขปัญหา และเมื่อจบภารกิจก็จะรีบไป

ไทยพับลิก้า: วันนี้สถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในความไม่เสถียร ท่านนายกฯ จะต้องรับแรงปะทะจากหลายด้าน ในฐานะรองโฆษกที่ต้องเป็นตัวช่วยรับแรงปะทะด้วย ต้องศึกษาตัวตนท่านนายกฯ อย่างไร

ถึงแม้ผมจะไม่ได้เติบโตในหน่วยทหารเดียวกับท่าน ผมเป็นทหารม้า ท่านเป็นทหารราบ อยู่ด้านฝั่งปราจีนบุรี แต่ว่าช่วงที่ได้ร่วมงานกันคือเมื่อท่านเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้บัญชาการหน่วยที่คุมกำลังในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นท่านก็เข้ามาดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก รองผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารบก ก็ทำงานร่วมกันมาประมาณ 5 ปี ก็ได้ศึกษาเรื่องราวของท่านมาโดยตลอด

เพราะฉะนั้น วิธีการทำงานของท่านคือ ท่านคงไม่ชอบคนที่ไปเจ๊าะแจ๊ะหรือไปถามตลอดเวลาว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไร ท่านต้องการคนที่ช่วยแบ่งเบาภาระของท่าน เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาเรื่องราว ต้องติดตามข้อมูลข่าวสาร ต้องฟังความคิดเห็นของสังคมโดยรวม บวกกับความคิดเห็นของตนเองที่อยู่ในกรอบนโยบายแล้วก็ดำเนินการไปเลย แต่เรื่องใดที่เกิดความไม่มั่นใจจริงๆ เรียนถามท่านก็ต้องมีแนวคิดและข้อเสนอเข้าไป “เรื่องนี้เป็นแบบนี้ ผมคิดว่าอย่างนี้ พี่ว่าอย่างไร” จะไปถามเปล่าๆ ว่าเอาอย่างไรดีครับนั้นไม่ได้

ไทยพับลิก้า: ใน 7 วัน 24 ชั่วโมง ในทำเนียบ ต้องทำงานอะไรร่วมกับนายกรัฐมนตรีบ้าง

ตอนเช้ามีการประชุมของศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ จะมีการประชุมที่เรียกว่า PMOC (Prime Ministerial Operation Center) ซึ่งถือเป็นทีมที่ปรึกษาท่านนายกฯ จริงๆ แล้วผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่ผมไปเรียนที่ปรึกษาท่านนายกฯ ท่าน พล.อ. สกล ชื่นตระกูล ว่าพี่ครับผมขออนุญาตเข้าประชุมด้วย เพราะว่าในที่ประชุมตอนเช้าหลากหลายเรื่องจะถูกนำเสนอเข้ามา เนื่องจากอยู่ในระดับชั้นความลับที่สูงพอสมควร ตัวพี่เขาเองที่เป็นที่ปรึกษาก็ไม่กังวลว่าผมจะนำความลับไปเผยแพร่ในทางเสียหาย เขาก็อนุญาตให้เข้าประชุมด้วย

ผมจึงได้ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล แล้วใช้ประโยชน์ในงาน หลังจากประชุมตอนเช้าก็จะมาดูตารางการประชุมหลักๆ ในแต่ละวัน ไม่ว่าท่านนายกฯ เป็นประธานการประชุมเอง หรือท่านรองนายกฯ หรือท่านรัฐมนตรีเป็นประธานนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง แล้วจึงจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน

โดย นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ดูว่าใครควรจะไปร่วมประชุมในส่วนไหนอย่างไร เพื่อจะได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมด นี่ก็เป็นการทำงานตลอดวันของทีมโฆษก

ไทยพับลิก้า: ในองค์ประกอบของการประชุม PMOC นั้นท่านนายกฯ มีส่วนในการสั่งการอย่างไรบ้าง

ท่านนายกรัฐมนตรีจะรับข้อมูลจากตรงนี้ เพราะในการประชุมแต่ละวัน เมื่อได้ผลการประชุมเสร็จแล้วจะนำเรียนท่านนายกฯ วันต่อวัน ว่าวันนี้มีประเด็นอะไรบ้าง แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการต่อเรื่องราวเหล่านั้นไปอย่างไร ติดขัดปัญหาตรงไหนที่อยากให้ท่านช่วยแก้ หรือมีข้อเสนอแนะอย่างไรในเรื่องนี้ ส่วนท่านจะตกลงใจอย่างไรเป็นเรื่องของท่าน

แต่ว่าท่านนายกฯ เป็นคนบริโภคข้อมูลเยอะจริงๆ ไปดูในรถของท่านนายกฯ ได้ หนังสือพิมพ์ เอกสารข้อมูลเยอะ และท่านเป็นคนไว อ่านหนังสือเร็ว

ไทยพับลิก้า: ท่านนายกรัฐมนตรีอ่านอะไรบ้าง

หนังสือพิมพ์ทุกชนิด ถ้าเป็นผมก็หนังสือพิมพ์หัวสีทั่วไป แต่ปัจจุบันท่านอ่านหนังสือพิมพ์ในกลุ่มของข่าวเศรษฐกิจ ในข่าวของสังคม คือไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไร แต่ได้ฟังท่านแล้วจะทราบเลยว่าท่านบริโภคข้อมูลมาเช่นกัน เพราะฉะนั้น การนำเสนอข้อมูลอะไรให้ท่านท่านจะปะติดปะต่อเรื่องได้ค่อนข้างเร็วแล้วก็ดี

ไทยพับลิก้า: ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวในเชิงตรวจสอบท่านนายกฯ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาคอร์รัปชัน เรื่องนี้รัฐบาลจริงจังกันแค่ไหน

ด้วยความเป็นทหาร ท่านนายกรัฐมนตรีเคยเผชิญกับเรื่องทั้งหลายเหล่านี้มาเมื่อสมัยอยู่กองทัพพอสมควร มีคนตรวจสอบว่าการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในกองทัพบก เป็นเรื่องที่ท่านนายกฯ ซีเรียสในเรื่องนี้ เพราะว่า ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ เขาว่า “โกง” ซึ่งคำนี้มันทำร้ายหัวใจนะ จะโกงด้วยตัวเราหรือองคาพยพที่อยู่รอบข้างมันก็ไม่ดีทั้งสิ้น ดังนั้น อะไรที่มีส่วนใกล้เคียงแบบนี้ท่านนายกฯ ให้ความสำคัญมาก

แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องแต่ละเรื่องแล้วจะทำการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทุกเรื่อง เพราะมีงานอื่นที่สำคัญกว่านี้ที่จะต้องทำ ดังนั้น หากมีการร้องเรียนเรื่องเหล่านี้เข้ามาก็ขอให้ทำไปตามระบบ คือหน่วยงานที่เขารับเรื่องร้องเรียน เป็นธรรมดีเสียอีกที่ทำให้คนที่ร้องเรียนได้ชี้แจงว่าผมสงสัยจากกรณีนี้ แต่ว่าหากโต้กันไปผ่านสื่อก็ไม่มีใครชนะไม่มีใครแพ้ สังคมก็ย่อมสงสัยว่าตกลงใครโกหก หรือว่าโกหกทั้งคู่

ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/060115_tro/060115tro-53047.html

ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/060115_tro/060115tro-53047.html

ไทยพับลิก้า: พี่น้องนายทหารของท่านนายกฯ ในคณะรัฐมนตรี เข้าใจ เกรงใจท่านนายกฯ แค่ไหน กรณีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน

ทั้งเกรงใจ ทั้งต้องนำไปปฏิบัติในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชา ผมเองรู้สึกชื่นชมอย่างยิ่งโดยตัวเอง แต่ยังไม่เคยคุยเรื่องนี้กับใคร คุยกับสำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นที่แรก ถึงบุคลิกของท่านรองนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึงบุคลิกของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ท่านเป็นรุ่นพี่ เป็นผู้บัญชาการทหารบกมาในขณะที่ท่านนายกฯ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาสมัยเป็นทหาร

ทหารนั้นผู้ที่นั่งหัวโต๊ะกับผู้ที่นั่งท้ายโต๊ะบรรยากาศมันต่างกัน วันนี้สลับที่กัน คนนั่งท้ายโต๊ะมานั่งหัวโต๊ะ คนนั่งหัวโต๊ะไปนั่งกลางโต๊ะ แต่ท่านสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้บนพื้นฐานของการนำนโยบายไปปฏิบัติ บนพื้นฐานของความเกรงใจ ต้องนับถือน้ำใจท่าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปดูบุคลิกของ พล.อ. อนุพงษ์ ท่านมีความสุภาพเรียบร้อย ให้เกียรติท่านนายกฯ อย่างที่สุด ซึ่งผมว่าเป็นความรู้สึกที่รับรู้ได้ทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ได้รับการปฏิบัติ หมายถึงรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของท่าน พล.อ. อนุพงษ์ พล.อ. ประวิตร และรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของท่านนายกฯ ในฐานะที่เคยเป็นน้องมาก่อน แล้ววันนี้เป็นผู้บังคับบัญชา

นอกจากนั้นยังรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของน้องๆ ที่เป็นทหารแล้วมาปฏิบัติงานร่วมกัน ว่านี่แหละสังคมจะอยู่ได้ด้วยการให้เกียรติกัน และรู้จักบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน ไม่ใช่ความรู้สึกที่ว่า ฉันโตกว่าแก ยังไงฉันก็ต้องโตกว่าแกตลอดนั้นไม่ใช่ ทหารให้เกียรติกันในเรื่องนี้

ไทยพับลิก้า: วันนี้เป็นการกลับด้านที่ผู้ที่เคยเป็นน้องเล็กที่สุด ต้องมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มองไม่เห็นร่องรอยของปมปัญหาและความคาใจซึ่งกันและกันใช่ไหม

ผมไม่เห็น สังคมอาจจะวิพากษ์วิจารณ์ มองว่ามีความขัดแย้งกัน แต่เท่าที่ผมเห็นเวลาประชุม เวลาทำงานด้วยกัน รับนโยบายไปปฏิบัติ แล้วก็มีผลความคืบหน้ามารายงานท่านนายกฯ ทั้งในที่ประชุมและรายงานแบบที่ไม่เป็นทางการ มีความคืบหน้าเป็นระยะๆ ตามที่ท่านนายกฯ กำหนด คืองานที่เร่งด่วนก็ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

นอกจากนี้ ในบางโอกาสก็ยังแอบเห็นการแหย่เล่นกันของความเป็นพี่น้อง เพื่อให้ทุกคนคลายความกังวลว่า แม้ว่าต่างคนต่างมีหน้าที่ในแต่ละบทบาท แต่ยังมีความรักมีความเป็นพี่น้อง มีความเชื่อถือเชื่อมั่นกันอยู่ตลอดเวลา นั่นหมายความว่า ท่านนายกฯ ได้ทำให้ความเป็นพี่น้อง ความเป็นผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา ไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืน

ไทยพับลิก้า: วัฒนธรรมพี่น้องของ “บูรพาพยัคฆ์” ก็ยังเหนียวแน่น วัฒนธรรมของการเป็นผู้บังคับบัญชาในฐานะนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็คงอยู่

ผมไม่ได้มองถึงบูรพาพยัคฆ์นะ ผมก็ไม่ใช่บูรพาพยัคฆ์ คือ คำนี้ก็เป็นคำที่เขาสร้างขึ้นมาว่าคนที่รับราชการในหน่วยนี้คือบูรพาพยัคฆ์ หากรับราชการในกองทัพภาคที่ 1 ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะเรียกว่า “วงศ์เทวัญ” แล้วอย่างผม รับราชการในหน่วยทหารม้ากรุงเทพฯ จะเรียกว่าอย่างไรดี “ธีรทัตธรรมรงค์” ไหมชื่อเท่ๆ ไม่ใช่นะ ผมว่าไม่ใช่ ความเป็นพี่น้องทหารที่เป็น จปร. นั้นเหนียวแน่นที่สุด พร้อมทำทุกอย่างที่ทำให้บ้านเมืองไปได้ด้วยดี ตั้งใจทำจริงๆ

ไทยพับลิก้า: ประชาชนยังอาจมีความไม่เชื่อมั่นด้านการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลทหาร จะสื่อสารอย่างไร

หากดูในรายละเอียดทีมเศรษฐกิจจริงๆ ไม่ใช่ทหาร หลักๆ ของทีมเศรษฐกิจคือ กูรูด้านเศรษฐกิจ ด้านการเงินการคลัง ด้านข้อกฎหมายที่จะนำมาสนับสนุนงานทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย ท่าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ท่านสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงทั้งหลาย นี่คือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แต่ในฐานะที่ท่านนายกฯ เป็นทหาร ท่านมีความเฉียบขาดเด็ดขาดกล้าตัดสินใจ ในสภาวะที่สังคมต้องการความรวดเร็ว ความฉับพลันในการดำเนินการ ผมจึงมีความรู้สึกว่า “กำลังดี” ในสถานการณ์แบบนี้ หากมีความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ แต่โอ้โลมปฏิโลม ขั้นตอนมากมาย ระยะเวลาที่มีตามที่ “สัญญา” ไว้กับสังคมนั้นจะทำได้สักเท่าไร แต่ถ้าใช้ความเด็ดขาดเฉียบขาดมาผสมผสานบนข้อมูลทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ ผมว่า “กลมกล่อม” เพราะในภาคพลเรือนโดยทั่วไปอาจจะไม่กล้าตัดสินใจแบบนี้ ดูขัดกับบุคลิก แต่ทหารกล้าทำ โดยทำบนพื้นฐานข้อมูลที่มีอยู่

ไทยพับลิก้า: มีการนำนโยบายคล้ายกับรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” มาปรับใช้ เช่น โครงการ 2 ล้านล้าน, โครงการน้ำ 3 แสนล้าน แต่ขยายเวลาและเพิ่มวงเงิน และสั่งศึกษา 7 ยุทธศาสตร์ประเทศระยะยาว เป็นไปได้หรือไม่ว่ารัฐบาลอาจจะอยู่นานกว่าที่วางแผนไว้

ต้องทำความเข้าใจใน 2 เรื่อง เรื่องแรก ที่ว่าอยู่ยาวหรือไม่อยู่ยาว ผมว่าด้วยบุคลิกลักษณะตามที่เล่าให้ฟังมาตั้งแต่ต้นนั้นทหารไม่ได้ต้องการอยู่ยาวจนผู้คนมีความรู้สึกว่า “เมื่อไรจะไป” อยู่แค่ทำงานโดยมีโรดแมปเป็นตัวกำหนดว่า เมื่อรัฐธรรมนูญเสร็จลงตัวบนพื้นฐานความพึงพอใจของทุกฝ่าย

ซึ่งคงไม่มีอะไรสมบูรณ์ร้อยเปอรืเซ็นต์ แต่ ณ วันนี้สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้พอสมควร ทุกฝ่ายยอมรับได้ การปฏิรูปด้านต่างๆ ลงตัวพอสมควร ตรงนี้เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็มีกฎหมายลูก เมื่อกฎหมายลูกพร้อมทหารก็พร้อมไป เสร็จเมื่อไรก็เมื่อนั้น ขณะนี้ก็เป็นไปตามโรดแมป เพราะฉะนั้น จะบอกว่าอยู่ยาวจึงไม่น่าจะเป็นลักษณะแบบนั้น

เรื่องที่สอง คือ จากงบประมาณ 2 ล้านล้าน ในโครงการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ แล้วมีการขยายงบประมาณนั้น ท่านต้องทำความเข้าใจว่าอาจจะมีความเหมือนหรือความต่างในตัวเดียวกัน

เหมือนก็คือ งบประมาณใช้เยอะ แต่ 2 ล้านล้าน แต่สิ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ทำในขณะนี้คือ ทำทั้งระบบให้เบ็ดเสร็จตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสุดท้ายมีความสมบูรณ์นั้นต้องใช้เงินเท่านี้

แต่ไม่ได้กู้เงินทั้งหมดมาทำรวดเดียว มีการวางแผนเป็นปีๆ ไปว่า ปีหนึ่งๆ จะทำอะไรเท่าไร จนกระทั่งจบจึงเป็นแผนระยะยาว แล้วในแต่ละปีก็ตั้งงบประมาณประจำปีมาสนับสนุน จึงไม่ต้องกู้เงินมากมายมหาศาล และมีระยะเวลาทำที่สามารถลงรายละเอียดตรวจสอบ มีการเตรียมพร้อมในเรื่องราวต่างๆ ได้เหมาะสม จึงมีความรู้สึกมั่นใจว่าสิ่งที่ทำนั้นเดินถูกทาง

ไทยพับลิก้า: ในทางการเมือง อาจมองได้ว่ารัฐบาลชุดนี้ก็เดินตามแนวทางเดิมที่รัฐบาลเพื่อไทยเคยเดิน คือแนวทางประชานิยม

ต้องเข้าใจอย่างนี้ว่า สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไม่ได้หมายความว่าทำได้ครั้งเดียวแล้วรัฐบาลอื่นทำไม่ได้ นโยบายไม่ใช่ลิขสิทธิ์ รัฐบาลต้องเลือกทำในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ จะไปซ้ำใครบ้าง จะต่างจากใครบ้าง ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่านโยบายนั้นสามารถแก้ปัญหาได้จริง

พูดเรื่องประชานิยม ความจริงเรื่องประชานิยมไม่ใช่อะไรที่เลวร้ายเกินไปนัก หากประชานิยมนั้นทำแล้วทำให้สังคมแก้ปัญหาได้จริง อยู่ได้โดยไม่มีการทุจริต ไม่หวังผลทางการเมืองเพื่อจะได้คะแนนเสียงโดยไม่คำนึงเลยว่าปัญหาของการใช้ประชานิยมนั้นจะสร้างภาระในอนาคตให้กับประเทศ

เพราะฉะนั้น วันนี้ที่รัฐบาลท่าน พล.อ. ประยุทธ์ทำอยู่ไม่ได้ทำแบบนั้น แต่ไม่ปฏิเสธว่าเรื่องบางเรื่องต้องเดินซ้ำรอยใคร เพราะสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไม่ได้มี “ลิขสิทธิ์” อะไรก็ได้ที่ดีที่สุด เหมือนบ้างต่างบ้างไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ขอให้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด มีเหตุผลรองรับแล้วสังคมเข้าใจได้

พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ไทยพับลิก้า: ในยุคของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาลพรรคเดียว มีเสียง 337 เสียงในฝ่ายนิติบัญญัติ ถูกเรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีฝ่ายเดียวในแม่น้ำ 5 สาย เรียกเผด็จการหรือเรียกว่าอะไร อธิบายความเหมือนความต่างในจุดนี้ว่าอย่างไร

มันต่างกรรมต่างวาระ สมัยก่อนนั้นเป็นช่วงของการเลือกตั้งที่ต้องมีการตรวจสอบมีการถ่วงดุล แต่วันนี้สิ่งที่รัฐบาลท่าน พล.อ. ประยุทธ์เข้ามานั้น เข้ามาด้วยเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่มีทิศทางที่จะไปได้ เป็นคนละเหตุการณ์ คนละสถานการณ์ เพราะฉะนั้น สถานการณ์ในวันนี้จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในลักษณะที่รวดเร็ว แก้ปัญหาให้ตรงจุด ในระยะเวลาที่มีอยู่แล้วก็จะได้ออกไป เพื่อให้ประเทศนั้นกลับสู่ระบบปกติ แล้วก็รับการเลือกตั้ง เพื่อให้ฝ่ายที่เป็นผู้อาสาเข้ามาทำงานนั้นได้ทำงานตามหน้าที่

วันนี้ แต่ละฝ่ายแต่ละอย่างอาจจะมีบุคลิกคล้ายในวันนั้น แต่ “ต่างกรรมต่างวาระ” ที่มาและสถานการณ์นั้นต่างกัน จึงไม่เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า: อานุภาพในการทำงานโดยเสียงส่วนใหญ่เบ็ดเสร็จนี้จะออกฤทธิ์ในการทำงานต่างกันไหม

น่าจะต่างกันนะ ในวันนั้นคนอาจจะมองว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา แต่วันนี้สังคมเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะเหตุอย่างนี้ทหารถึงเข้ามา แล้วเข้ามาแก้ในจุดต่างๆ วันนี้จะเห็นได้ว่าท่านนายกฯ พยายามอธิบายทุกเรื่อง เพื่อให้สังคมได้รู้ว่าผมทำอย่างนี้เพราะอะไร เป็นปัญหาเพราะอะไร เพราะฉะนั้น ในคำอธิบายเหล่านี้ก็น่าจะทำให้สังคมเข้าใจได้ และผมเชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่วันนี้เข้าใจ

สิ่งที่เห็นได้ในวันนี้คือ สังคมสงบเรียบร้อยมากขึ้น มีการให้กำลังใจเยอะขึ้น ถามว่ามีการสร้างกระแสบ้างไหม ก็เป็นธรรมดาของสังคที่ไม่มีใครเป็นเด็กเรียบร้อยตลอดเวลาทั้งประเทศ แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

ไทยพับลิก้า: มีความต่างอย่างหนึ่งในสมัยที่เรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” กับรัฐบาลปัจจุบัน คือ สมัยนั้นจะมีการเปิดให้สามารถอธิปรายไม่ไว้วางใจได้ ตรวจสอบได้บ้าง แต่ในปัจจุบันไม่เปิดโอกาสให้คนได้เห็นต่าง

ไม่ใช่นะ เรื่องนี้ผมเห็นต่าง ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่สามารถที่จะเสนอแนะ ท่านไม่สามารถที่จะวิพากษ์ได้ ท่านยังสามารถทำได้ โดยช่องทางของหน่วยต่างๆ ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น แต่ที่ผ่านมาที่มีปัญหาคือไม่ใช่เป็นการเสนอแต่เป็นการกวนน้ำให้ขุ่น เหมือนการตำหนิติเตียน แต่ไม่มีเหตุผล ไม่มีแนวทางเสนอแนะ เช่นนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านความมั่นคงจึงบอกว่า “เสนอแนะได้ทุกอย่างแต่ยอมไม่ได้อย่างเดียวคือขัดขวางการทำงานของรัฐบาลและ คสช. ทำไม่ได้ ยอมไม่ได้”

ไทยพับลิก้า: มีฝ่ายไหนที่กวนน้ำให้ขุ่น

ผมว่าคงไม่ต้องอธิบายในรายละเอียด สังคมเข้าใจได้ การเฉพาะเจาะจงลงไปอาจจะดูเหมือนว่ารัฐบาล…ในฐานะที่ผมเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดก็เหมือนรัฐบาลพูด จะกลายเป็นว่า นี่ไง เป็นขั้วตรงข้าม แต่ไม่ใช่ รัฐบาลไม่ได้เป็นขั้วตรงข้ามกับใคร แต่ไม่อยากให้ใครมาทำให้การทำงานของรัฐบาลและ คสช. หยุดชะงัก แต่หากท่านเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ดีไม่เหมาะท่านติงได้ ท่านเสนอแนะได้ว่าแล้วที่ดีนั้นเป็นแบบไหน ด้วยเหตุผลอะไร สังคมจะได้วิเคราะห์ รัฐบาลเองก็จะได้วิเคราะห์ด้วยว่าสิ่งท่านเสนอนั้นดีกว่าอย่างไร ผมว่ารัฐมนตรีทุกคนและท่านนายกฯ พร้อมรับฟัง

ไทยพับลิก้า: ถึงแม้ข้อเสอนนั้นจะเสนอมาจากคนของพรรคเพื่อไทย

ไม่มีปัญหา จะเสนอมาจากพรรคใดก็แล้วแต่ ถ้าข้อเสนอนั้นมีเหตุผลรองรับ เป็นไปได้ และก็ทำให้สังคมดีขึ้น