ต่อจากตอนที่แล้ว (“รสนา” ใช้กลไกศาลปกครองไล่บี้ต้นทุนเอ็นจีวีต่อ ปตท. แจงราคาปากหลุม 210 บาทต่อล้านบีทียู)
หลังจากที่มีกลุ่มผู้ประกอบการสิบล้อ แท็กซี่ รถตู้ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย นำรถออกมาปิดถนนประท้วง ทั้งบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและสำนักงานใหญ่ ปตท. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 เพื่อเรียกร้องให้ ครม. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทบทวนมติ ครม. เมื่อวันที 4 ตุลาคม 2554 ที่ให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีและแอลพีจีสำหรับใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ไปจนถึงสิ้นปี
เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นใหญ่ ที่ส่งกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนที่ใช้รถติดก๊าซ การปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งนี้ กรณีขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี รัฐบาลอ้างว่า ต้องการทำราคาขายปลีกให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่วนกรณีของเอ็นจีวีนั้น ต้องการแก้ปัญหาขาดทุนให้กับ ปตท. เนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้ ปตท. ขายเอ็นจีวีต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่ 6 บาทต่อกิโลกรัม
ขณะที่ผู้บริโภคก็ไม่เชื่อว่า ราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ 8.39 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่ ปตท. นำมาแสดงในเอกสารประชาสัมพันธ์นั้นเป็นราคาที่แท้จริง จึงเปิดโต๊ะเจรจากับผู้ขับแท็กซี่ สิบล้อ รถร่วมบริการ และรถตู้ ท้ายสุดจบลงด้วยการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคขนส่งขึ้นมาตรวจสอบราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวีภายใน 4 เดือน แต่ในระหว่างนี้ ให้ทยอยปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม
จากนั้น มีการปรับคณะรัฐมนตรี เป็น “ครม.ยิ่งลักษณ์ 2” ได้แต่งตั้งนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ อดีตผู้บริหารบริษัทไทยคม เข้านั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ แทนนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงานที่ถูกปรับออก
นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานกรรมการชุมชนสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทย จำกัด และประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ กล่าวว่า จากการที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ให้มีการปรับราคาก๊าซเอ็นจีวี ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 เป็นต้นไป แต่คนขับแท็กซี่ไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะมติ ครม. ออกมาในช่วงที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม แท็กซี่ต้องเอารถหนีน้ำท่วม และต้องขับรถเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานกรรมการชุมชนสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทย จำกัด และประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ
นายวิฑูรย์กล่าวต่อว่า กลุ่มแท็กซี่มีข้อจำกัด ไม่สามารถปรับขึ้นราคาค่าโดยสารได้ตามอำเภอใจ เพราะค่าโดยสารถูกกำหนดโดยกระทรวงคมนาคม ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แท็กซี่ยังไม่เคยปรับราคาค่าโดยสารเลย คิดราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท มาตั้งแต่ปี 2535 ตอนนั้นคนขับรถแท็กซี่ซื้อรถยนต์มาทำแท็กซี่คันละ 3 แสนบาท แต่วันนี้ราคาเกือบ 8 แสนบาท ซึ่งแท็กซี่เองก็ไม่อยากจะขึ้นราคา เราพยายามตรึงราคาค่าโดยสารมาตลอด
ปัจจุบัน คนขับรถแท็กซี่จะมีอยู่ 2 กะ ถ้าเป็นรถยนต์ที่เติมก๊าซเอ็นจีวีจะมีค่าใช้จ่าย 340 บาทต่อกะ หากราคาก๊าซเอ็นจีวีเพิ่มขึ้น 6 บาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 70 % แท็กซี่ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 140 บาท หรือมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 580 บาท ต่อกะ ส่วนรถแท็กซี่ที่เติมก๊าซแอลพีจีจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 500 บาทต่อกะ แต่ถ้าราคาก๊าซแอลพีจีปรับขึ้นอีก 9 บาท เท่ากับเพิ่มขึ้น 44 % ค่าใช้จ่ายในการเติมก๊าซจะเพิ่มขึ้นเป็น 700 บาท ต่อกะ และถ้านำไปหักค่าเช่ารถและค่าอาหาร แท็กซี่่จะเหลือเงินรายได้กลับบ้านแค่วันละ 200-300 บาท
นายวิฑูรย์กล่าวว่า ดังนั้น เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ผู้ประกอบการแท็กซี่จึงต้องออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม เพราะแท็กซี่ไม่สามารถปรับขึ้นค่าโดยสารได้ และเราก็ไม่อยากจะปรับขึ้นค่าโดยสาร เนื่องจากเป็นการโยนภาระให้กับประชาชน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม. 4 ตุลาคม 2554
“การชุนนุมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ผมประเมินตั้งแต่ก่อนที่จะชุมนุมแล้ว เราไม่มีทางต่อสู้กับรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลมีการวางแผนการปรับขึ้นราคาก๊าซมานานแล้ว แต่เราก็ไม่หนี ขอต่อสู้สักยกก่อน แพ้ก็ไม่เป็นไร ถึงแม้เราจะยอมให้ ปตท. ปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีเป็นระยะเวลา 4 เดือน รวมเป็นเงิน 2 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในระหว่างนี้ กลุ่มแท็กซี่ก็ถูกเชิญให้เข้าไปเป็นคณะทำงานตรวจสอบราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวีที่แท้จริง ผมเชื่อว่า ปตท. ไม่ได้เอาเอกสารจริงมาให้ดู ผมจะพยายามนำข้อมูลจริงออกมาเปิดเผยว่า จริงๆ แล้วข้อมูลที่ ปตท. นำมากล่าวอ้างคือต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรี พร้อมกับจัดหามาตรการมาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ” นายวิฑูรย์กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกและแก้วที่ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต นายวงศ์ชัย ศรีไทย รองนายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง กล่าวว่า การลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ โดย ครม. มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ให้ทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสละ 3 บาทต่อกิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2554, วันที่ 1 ตุลาคม 2554, วันที่ 1 มกราคม 2555 และครั้งสุดท้ายวันที่ 1 เมษายน 2555 จนถึงวันนี้ภาคอุตสาหกรรมรับภาระไปแล้ว 9 บาทต่อกิโลกรัม ปรากฏว่ามีโรงงานปิดตัวไปแล้ว 3 แห่ง ส่วนที่เหลือก็เตรียมตัวปิดกิจการต่อ หากราคาแอลพีจีลอยตัวขึ้นไปสูงสุดที่กิโลกรัมละ 30 บาท
“ผมเปิดโรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนเริ่มเปิดกิจการใหม่ๆ ผมใช้ก๊าซแอลพีจีที่ราคากิโลกรัมละ 10 บาท จนมาถึงช่วงก่อนที่จะมีการลอยตัวแอลพีจี (วันที่ 19 กรกฎาคม 2554) ราคาแอลพีจีอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม ข้อสังเกตคือ ที่ผ่านมาราคาแอลพีจีถูกปรับขึ้นไป 80 % โดยใช้เวลา 10 ปี แต่นี่ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ราคาปรับขึ้น 75% นับจากวันที่ประกาศลอยตัวจนถึงวันที่ 1 เมษายน 2555 คงจะไม่มีอุตสาหกรรมเซรามิกที่ไหนปรับตัวได้ทัน” นายวงศ์ชัยกล่าว
ประเด็นที่ภาคอุตสาหกรรมไม่เห็นด้วยกับภาครัฐก็คือ สูตรในการกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีหน้าโรงกลั่นน้ำมันที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะใช้ราคาก๊าซแอลพีจีที่หน้าโรงกลั่นเดิมในสัดส่วน 24 % เอามาบวกกับราคาก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าจากต่างประเทศในราคาตลาดโลก ซึ่ง สนพ. ให้น้ำหนักในการคำนวณถึง 76 % ทำให้ราคาต้นทุนหน้าโรงกลั่นสูงเกินจริง
แต่ข้อเท็จจริงตามเอกสารของวุฒิสภาก็คือ ตั้งแต่ปี 2553-2554 โรงแยกก๊าซสามารถผลิตแอลพีจีได้ 52% โรงกลั่นน้ำมันผลิตได้ 34% และนำเข้าก๊าซแอลพีจี 14% เท่านั้น หมายความว่า โดยข้อเท็จจริงแล้ว ประเทศไทยผลิตแอลพีจีได้เอง 86% แต่สูตรในการกำหนดราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่นให้น้ำหนักแค่ 24% เท่านั้น อีก 76% ใช้ราคาตลาดโลก
“ผมไปถามเจ้าหน้าที่ สนพ. ว่า ทำไมสูตรในการกำหนดราคาก๊าซที่หน้าโรงกลั่นน้ำมันถึงเป็นเช่นนั้น เขาตอบว่า หลักคิดมีอยู่ว่าทางการต้องการสร้างแรงจูงใจให้โรงกลั่นผลิตแอลพีจีออกมาให้มากๆ แต่เขาไม่ได้บอกผมว่าผลิตแอลพีจีได้แล้วนำออกมาขายให้พวกผมเท่าไหร่ เอาไปใช้เองเท่าไหร่ หลักคิดนี้เป็นหลักคิดของคนกลุ่มหนึ่ง เมื่อคิดได้แล้วก็นำเสนอต่อ กบง. และ กพช. ตามลำดับ ประชาชนที่เหลืออีก 60 ล้านคนไม่มีส่วนร่วมตรงนี้เลย ทางภาคอุตสาหกรรมก็เสนอประเด็นนี้ไป แต่ไม่ได้รับการพิจารณา” นายวงศ์ชัยกล่าว
ประเด็นทื่ 2 การลอยตัวแอลพีจี ภาคอุตสาหกรรมอื่นอาจไม่มีปัญหา เพราะไม่เห็นมีกลุ่มใดออกมาเรียกร้อง ยกเว้นอุตสาหกรรมเซรามิกและเครื่องแก้ว ซึ่งใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง มีต้นทุนประมาณ 30-40% หากปรับราคาแอลพีจีขึ้นมา 75% จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น 28% คำถามคือเพิ่มขึ้น 28% แล้วเราจะไปแข่งขันกับใครได้
หลังจากที่รัฐบาลลอยตัวแอลพีจีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้ลอยตัวภาคครัวเรือนที่ใช้ถัง 48 กิโลกรัม ซึ่งยังใช้ก๊าซที่กิโลกรัมละ 18 บาทอยู่ ปัญหาที่ตามมาคือ โรงงานส่วนใหญ่ในจังหวัดลำปางเป็นโรงงานเล็กๆ มีพื้นที่จำกัด ก็ใช้ถัง 48 กิโลกรัม ในการผลิตชามตาไก่ขายใบละ 15-20 บาท แต่หลังจากที่ลอยตัวแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรม ปรากฏว่า สนพ. ก็ออกประกาศกำหนดให้โรงงานที่ครอบครองถัง 48 กิโลกรัม เกินกว่า 10 ใบ ต้องลงทุนปรับเปลี่ยนมาใช้ถังขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “ถังเบ๊าซ์” เพื่อให้โรงงานขนาดเล็กไปใช้แอลพีจีที่ราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม ผลิตชามตราไก่ออกมาที่ราคา 25 บาท แล้วใครจะมาซื้อ ตรงนี้จึงเป็นจุดที่ไม่สามารถทำธุรกิจต่อได้
“ที่สำคัญ ลำปางเป็นเมืองต้นแบบของคลัสเตอร์โรงงานที่มีขนาดใหญ่ มีความสามารถในการทำตลาด เมื่อรับงานมาก็แบ่งให้โรงงานเล็กๆ ทำ ตอนนี้ พอโรงงานใหญ่ถอดใจไม่รับงานเพิ่ม โรงงานเล็กๆ ก็ได้รับผลกระทบ อาจจะต้องปลดคนงาน 5,000-6,000 คน”
หลังจากที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ให้ทยอยปรับขึ้นราคาแอลพีจีเฉพาะภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้ปรับขึ้นราคาภาคขนส่งและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นอกจากนี้ ในมติ ครม. ยังแยกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีออกจากอุตสาหกรรมทั่วไป โดยให้นิยามว่า โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบ กรณีนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางจึงนำประเด็นนี้ร้องต่อศาลปกครอง ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร ก็ถือว่าเป็นต้นทุนการผลิตเหมือนกัน
จากนั้น เมื่อถูกภาคอุตสาหกรรมเรียกร้องหนักเข้า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ครม. มีมติให้ปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 1 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมกับปรับราคาแอลพีจีที่ใช้ในภาคขนส่ง 9 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นการเลือกปฏิบัติอีกรอบหนึ่งหรือไม่ รัฐบาลประชาธิปัตย์ปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม 12 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ในรถยนต์ 9 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นราคาแค่ 1 บาท
หากไปดูข้อมูลการใช้แอลพีจีในภาคครัวเรือนจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกับปิโตรเคมีประมาณ 2 แสนตันต่อเดือน แต่รัฐบาลไม่กล้าปรับขึ้นราคาก๊าซที่ใช้ในภาคครัวเรือน เพราะกลัวกระทบกับปากท้องชาวบ้าน ในมติ ครม. ระบุว่า หากขึ้นราคาแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรม 12 บาท จะมีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 180 ล้านบาทต่อเดือน แต่ถ้าหากปรับขึ้นราคาแอลพีจีใช้ในปิโตรเคมี 12 บาท เท่ากับภาคอุตสาหกรรมทั่วไป อาจจะไม่จำเป็นต้องไปขึ้นราคาแอลพีจีที่ใช้ในภาคขนส่งเลย
“เหตุที่ ปตท. ไม่อยากให้ใช้แอลพีจีในภาคขนส่งเพราะสร้างมูลค่าเพิ่มแค่ 2 เท่า แต่ถ้านำไปใช้ในปิโตรเคมีจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ตั้งแต่ 9-20 เท่า สมมติว่า ถ้ามีการปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ใช้ในปิโตรเคมี 12 บาท จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น 70% เหมือนกับภาคอุตสากรรมทั่วไป ปตท. ก็ยังมีมูลค่าเพิ่มเหลืออยู่ 8-19 เท่า ก็ยังถือว่าในเกณฑ์ที่ดีอยู่” นายวงศ์ชัยกล่าว
ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะที่เป็นตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการลอยตัวเอ็นจีวี ปตท. มักจะพูดอยู่เสมอว่า มีผลขาดทุนสะสมจากการขายก๊าซเอ็นจีวีอยู่ 30,000 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่เคยแสดงตัวเลขว่าในแต่ละปีมีรายได้จากการขายก๊าซเอ็นจีวีเท่าไหร่ จากข้อมูลของ สนพ. หลังจากลอยตัวก๊าซที่ใช้ในภาคขนส่ง ในปี 2555 ปตท. จะมีรายรับจากการขายเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละ 1,758 ล้านบาท เป็น 2,999 ล้านบาท ส่วนแอลพีจีจะมีรายรับเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละ 1,460 ล้านบาท เป็น 2,117 ล้านบาท
แต่สิ่งที่อยากจะตอกย้ำคือ ราคาเนื้อก๊าซที่ ปตท. นำมาแสดงต่อสาธารณชนเป็นราคาที่สูงเกินจริงถึง 4 เท่าตัว เพราะ ปตท. ไม่เคยพูดเลยว่าเนื้อก๊าซที่ไปซื้อมาจากปากหลุมราคาเท่าไหร่ แต่ไปเอาราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ขายให้กับ กฟผ. มาแสดง แล้วก็บอกว่านี่ราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ ต้นทุนที่แท้จริงนั้น ปตท. ยังไม่เคยนำออกมาเผยแพร่เลย
ส่วนกรณีที่ภาคขนส่งเรียกร้องให้ ปตท. ขยายปั๊มเอ็นจีวี ผมคิดว่าถ้าไปตั้งปั๊มเอ็นจีวีผิดที่ผิดทางจะยิ่งทำให้ ปตท. ขาดทุนเพิ่มขึ้น ขณะนี้ ปตท. มีปั๊มเอ็นจีวีประมาณ 453 แห่ง แบ่งเป็นปั๊มที่ขึ้นตามแนวท่อ 104 แห่ง และปั๊มนอกแนวท่อ 349 แห่ง ซึ่งปั๊มที่อยู่นอกแนวท่อนี้คือต้นเหตุที่ทำให้ ปตท. ขาดทุน เพราะต้องใช้รถบบรทุกขนจากสถานีแม่ไปส่งสถานีลูก ดังนั้น ยิ่งเรียกร้องให้ขยายปั๊มนอกแนวท่อมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ ปตท. ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างขาดทุนและขอปรับขึ้นราคาก๊าซ ดังนั้น วิธีแก้คือควรจะขยายปั๊มที่อยู่ในแนวท่อก๊าซเท่านั้น
“อีกประเด็นหนึ่งที่ผมพูดมาแล้วหลายครั้งแต่สื่อมวลชนไม่ค่อยนำไปเผยแพร่เลย คือเรื่องการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) กลับเข้าไปในเนื้อก๊าซเอ็นจีวี เพื่อปรับคุณภาพก๊าซเอ็นจีวีที่มาจากหลายแหล่งผลิตให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ทำให้กรมธุรกิจพลังงานต้องออกประกาศให้ปั๊มเอ็นจีวีก๊าซเติม CO2 ได้ถึง 18% ของปริมาตร หมายความว่าประชาชนจ่ายเงินไป 100 บาท แต่ได้เนื้อก๊าซเอ็นจีวีจริงๆแค่ 82 บาท ปกติประชาชนที่ซื้อก๊าซเอ็นจีวีไปใช้ก็ขาดทุนอยู่แล้ว การปรับราคาขึ้นไปอีก 6 บาทต่อกิโลกรัม ยิ่งทำให้ประชาชนขาดทุนเพิ่มขึ้น” นายอิฐบูรณ์กล่าว
ส่วนรถที่ใช้แอลพีจี ปตท. มักจะบอกอยู่เสมอว่าเป็นการนำพลังงานไปใช้ผิดประเภท และยังเป็นต้นเหตุที่ทำให้ก๊าซแอลพีจีขาดแคลนจนต้องไปนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ ขณะที่ต่างประเทศส่งเสริมให้ใช้แอลพีจีทดแทนการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งต้องมาดูว่า คนใช้รถแอลพีจีเป็นต้นเหตุที่ทำให้แอลพีจีขาดแคลนจริงหรือ
ปัจจุบัน ประเทศไทยผลิตแอลพีจีได้ 4.4 ล้านตัน (แถบสีม่วง) ภาคครัวเรือน 60 กว่าล้านคน ใช้แอลพีจี 2.4 ล้านตัน รถยนต์ใช้ 6.8 แสนตัน ภาคอุตสาหกรรมใช้อีก 7.7 แสนตัน รวมตัวเลขการใช้ก๊าซแอลพีจีทั้งหมดก็ยังไม่ขาดแคลน แต่หลังจากธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือ ปตท. เริ่มขยายกำลังการผลิต ทำให้ปัจจุบันในส่วนของปิโตรเคมีใช้แอลพีจีถึง 1.6 ล้านตัน คิดเป็นอันดับที่ 2 รองจากภาคครัวเรือน ตรงนี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ก๊าซขาดแคลนจนต้องไปนำเข้าก๊าซมาจากต่างประเทศในราคาตลาดโลกเป็นปริมาณ 3.88 ล้านต้น ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชย 57,339 ล้านบาท
“ถามว่าทำไมรัฐต้องไปจ่ายเงินอุดหนุน เพราะประชาชนทั้งประเทศเขาใช้กันอย่างพอเพียง และอยากจะถามต่อไปว่า ทำไมราคาก๊าซแอลพีจีในเมืองไทยถึงมีสองมาตรฐาน ถ้านำแอลพีจีไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมทั่วไปจ่ายเพิ่มเกือบ 12 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าใช้ในปิโตรเคมีจ่ายแค่กิโลกรัมละ 1 บาท” นายวงศ์ชัยกล่าว